xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันเล่ห์กลลวงล้วงข้อมูลเรื่องลูกผ่านออนไลน์ / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลกระทบของยุคสังคมก้มหน้า ที่ผู้คนเอาแต่ก้มหน้าก้มตาอยู่กับเจ้าเครื่องสมาร์ทโฟนทั้งหลาย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเรื่องสุขภาพร่างกาย พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป และภาวะจิตใจเท่านั้น แต่มันมีภัยร้ายที่แฝงมากับโลกออนไลน์ที่คาดไม่ถึงอีกมากมาย โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่โดดเข้าสู่โลกออนไลน์แบบรู้ไม่เท่าทัน และกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของบรรดามิจฉาชีพ

ภัยร้ายที่ว่าก็คือ ภัยรู้ไม่เท่าทันเล่ห์กลโกงในโลกออนไลน์ มีทั้งแบบที่ปฏิสัมพันธ์กับตัวเด็กและเยาวชนโดยตรง และแบบที่ผ่านพ่อแม่ผู้ปกครอง แล้วเข้าไปล้วงข้อมูลของเด็ก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ถ้าจำกันได้ถึงกรณีที่โด่งดังในสหรัฐอเมริกา เรื่องของหนูน้อยโนอาห์ พอสเนอร์ วัยเพียง 6 ปี ผู้ตกเป็นเหยื่อของการโจรกรรมออนไลน์ จากกรณีที่หนูน้อยเสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมการสังหารหมู่นักเรียนโรงเรียนประถมในสหรัฐอเมริกา หลังการเสียชีวิต และคนใกล้ชิดได้ทำเว็บไซต์ขึ้นเพื่อบริจาคเงินช่วยเหลือครอบครัวของโนอาห์ แต่ปรากฏว่าเว็บไซต์นี้ถูกมือดีแฮกเข้าไปและขโมยเงินบริจาคไปทั้งหมด ซึ่งเป็นการจารกรรมข้อมูลผ่านคนในครอบครัว

การโจรกรรมข้อมูลออนไลน์ของเด็กๆ ในสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นถึง 300% ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยอายุเฉลี่ยของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อคือ 6-8 ปี และเมื่อปีที่แล้วมีถึง 10 ล้านคน โดยเฉลี่ยแล้วเหยื่อจะตกเป็นหนี้ถึง 12,800 ดอลลาร์ หรือราว 385,000 บาท ซึ่งหนี้มหาศาลนี้ถึงขนาดทำให้พ่อแม่หลายคนไม่มีเงินส่งลูกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และกลายเป็นเรื่องที่พบบ่อยมาก ทั้งยังสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ

หรือแม้แต่กรณีที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กโดยตรง เรื่องที่เด็กสาวถูกล่อลวงให้ออกไปกับเพื่อนชายที่รู้จักกันผ่านโลกออนไลน์ และสุดท้ายก็ตกเป็นเหยื่อและเสียชีวิต ซึ่งก็ไม่ใช่รายแรก แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในระยะหลัง

เรื่องภัยร้ายจากมิจฉาชีพและการล้วงข้อมูลออนไลน์เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย บ้านเรายังไม่ได้ตระหนักหรือให้ความสำคัญในเรื่องนี้เท่าที่ควร เวลาเกิดเหตุขึ้นมาทีหนึ่งก็จะตื่นตระหนกที จากนั้นข่าวคราวก็จะค่อยๆ เงียบหายไป พร้อมๆ กับความไม่ระมัดระวังตัวกันเหมือนเดิม

โลกออนไลน์ที่มีแฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผ่านระบบออนไลน์ โดยที่เจ้าของไม่อนุญาต หรือบางทีอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ โดยแฮกเกอร์ หรือนักล้วงข้อมูลจะล้วงข้อมูลสำคัญ เช่น รหัสผ่านต่างๆ เลขบัตรประชาชน ที่อยู่ เลขบัตรเครดิต เป็นต้น ทั้งจากเฟซบุ๊ก อีเมล หรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่คุณใช้งานบ่อยๆ และพยายามทำธุรกรรมทางการเงินด้วยข้อมูลเหล่านั้น

เดี๋ยวนี้กลโกงออนไลน์มีการพัฒนาไปตามเทคโนโลยี และความรู้ของผู้ที่โกง และจำนวนของคนโกงเหล่านี้ก็เพิ่มมากขึ้นท่ามกลางความไม่ระมัดระวังตัวหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้คนยุคนี้

ฉะนั้น วิธีการสอนให้ลูกรู้เท่าทันเล่ห์กลโกงหรือภัยร้ายในโลกออนไลน์เป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง

ข้อแรก สำหรับลูกที่อายุไม่ถึงเกณฑ์เข้าสู่โลกออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีโปรแกรมที่เขาระบุอายุเอาไว้ แต่ก็ไม่เคร่งครัดอยู่ดี ทำให้เด็กเหล่านั้นมักจะโกงอายุและข้อมูลส่วนตัว ฉะนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องรู้ด้วยว่าลูกของเราเข้าสู่โลกออนไลน์ ด้วยการใช้โปรแกรมอะไรบ้าง ถ้าเป็นเฟซบุ๊ก หรือโปรแกรม Social Media ทั้งหลาย ก็ควรที่จะต้องหาทางในการรู้ความเคลื่อนไหวของลูกด้วย ถ้าคุณใกล้ชิดลูก ก็ไม่น่าเป็นปัญหาเพราะก็สามารถเป็นเพื่อนในโปรแกรมได้ ทางที่ดีคุณต้องผ่านด่านข้อนี้ในการทำข้อตกลงกันก่อนว่ามีอะไรลูกสามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง พ่อแม่ไม่ได้ต้องการก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของลูก แต่ช่วยสอดส่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนในโลกออนไลน์ที่อาจจะมีมิจฉาชีพแฝงมาด้วยก็ได้

ข้อสอง พูดคุยให้ลูกฟังด้วยว่าในโลกออนไลน์มีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนอยู่ ฉะนั้น ไม่ควรเปิดข้อมูลส่วนตัวหมด หรือไม่ควรไว้วางใจให้ความใกล้ชิดสนิทสนมกับเพื่อนในโลกออนไลน์ หรือถึงขนาดออกไปเจอกันเพียงลำพัง โดยยกตัวอย่างอุทาหรณ์ที่เกิดขึ้นเพราะกรณีดังกล่าว เพื่อเป็นการเตือนและให้ข้อคิดสะกิดใจให้เขาเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

ข้อสาม ต้องไม่ให้ลูกให้เบอร์บัญชี สำเนาบัตรประชาชน หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือใดๆ เด็ดขาด บอกลูกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเอกสารสำคัญที่ต้องไม่เผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ เพราะอาจทำให้คนอื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญของเราได้ เพราะเดี๋ยวนี้มีการหลอกลวงขั้นสูงทางอินเทอร์เน็ตในรูปแบบของการปลอมแปลงอีเมล หรือข้อความที่สร้างขึ้นเพื่อหลอกให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลทางด้านการเงินหรือ ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ อาทิ ข้อมูลหมายเลขบัตรเครดิต หมายเลขประจำตัวผู้ใช้ (User name) รหัสผ่าน (password) หมายเลขบัตรประจำตัว ซึ่งมีเหยื่อหลงกลจำนวนมาก

ข้อสี่ ถ้ามีข้อความหรือมีรหัสอะไรที่เราไม่รู้ที่ระบุให้เรากรอกรายละเอียดของเรา ต้องไม่กรอกรายละเอียดเด็ดขาด รวมไปถึงการไม่เข้าไปกดข้อความใดๆ ที่เราไม่รู้ หรืออ่านไม่ออก เพราะเป็นภาษาอื่น ห้ามให้ลูกกดเด็ดขาด เพราะเคยมีกรณีที่เด็กกดปุ่ม OK ไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่ามันคืออะไร สุดท้ายก็มีบิลมาเก็บที่บ้านในหลักเงินหลายหมื่นบาท

ข้อห้า ปัจจุบันไม่ใช่มีเฉพาะข้อความหรือรูปผู้หญิงโป๊ แต่มีข้อความประเภท ลดราคาสินค้าทั้งร้าน หรือข้อความใดๆ อีกมากมายที่ถูกส่งมากระตุ้นต่อมอยากรู้อยากเห็นของเด็กให้กดเข้าไป พอเข้าไปก็มีข้อความขึ้นมาอีกว่า “ต้องอัปเกรด Flash Player” พอ กดเข้าไปอีกแทนที่จะได้ดูกลับกลายเป็นรับเอาไวรัสเข้ามาในเครื่องโดยไม่รู้ ตัวก็ได้

ข้อหก โดนหลอกเอาข้อมูลของลูกไปทำมาหากิน เนื่องจากผู้คนเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ทำให้พวกมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นเรา ไปหลอกลวงข้อมูลคนอื่นอีกที ก็มีให้เห็นมากมายทั้งในและต่างประเทศ

หัวใจสำคัญที่สุด คือ พ่อแม่ต้องสอนลูกตั้งแต่เล็กว่า อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะรหัสผ่านที่สำคัญต่างๆ รวมไปถึงเอกสารสำคัญ เช่น เลขบัตรประชาชน ที่อยู่ และหากได้รับอีเมลแปลกๆ ก็อย่าตอบคำถามนั้นๆ เด็ดขาด เพราะมันอาจเป็นอีเมลหลอกลวงก็ได้

ขณะเดียวกันพ่อแม่เองก็ต้องไม่เปิดเผยหรือให้ข้อมูลสำคัญของลูกบนโลกออนไลน์เช่นกัน

โลกออนไลน์มีทั้งข้อดีและโทษ สิ่งสำคัญคือการสอนลูกให้รู้เท่าทัน แต่ตัวเราก็ต้องรู้ให้เท่ากันก่อนด้วย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น