xs
xsm
sm
md
lg

จีนซุ่มสร้างนวัตกรรมทางการทหาร เครื่องคอมพิวเตอร์รูปร่างคล้ายปลาหมึกยักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักวิจัยด้านการทหารบนแผ่นดินใหญ่กำลังดำเนินโครงการวิจัยชิ้นสำคัญในการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ออกแบบหน้าตาคล้ายกับปลาหมึกยักษ์ เพื่อป้องกันการจารกรรมข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ที่ประสิทธิภาพสูงกว่าระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไป

จากรายงานของสำนักข่าวซินหวาของทางการจีน โครงการลับนี้อยู่ในแผนการพัฒนาเทคโนโลยี่ชั้นสูงของรัฐ (State Hi-Tech Development Plan) หรือโครงการ 863 โดยโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้การนำของศาสตราจารย์อู๋ เจียงซิง ประธานของมหาวิทยาลัยวิศวกรรมสารสนเทศแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชน (Information Engineering University of the People’s Liberation Army)

โครงการนี้จะสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ชิ้นแรกในโลก ที่เลียนแบบความยืดหยุ่นของปลาหมึกยักษ์ ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับการทำงาน ที่หลากหลายตั้งแต่การคำนวณทางวิทยาศาสตร์ไปจนถึงการป้องกันการจารกรรมข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ด้วยประสิทธิภาพ ที่สูงกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปเกือบ 100 เท่า

คณะผู้เชี่ยวชาญของโครงการระบุว่า โครงการนี้เป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีประสิทธิภาพสูง และจะทำให้จีนเปลี่ยนจากฐานะผู้ตาม ผงาดขึ้นเป็นผู้นำในด้านนี้ โดยจะทำให้จีนสามารถพัฒนาชิปคอมพิวเตอร์ขึ้นเอง ตลอดจนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และโปรแกรมซอฟต์แวร์ ซึ่งป้องกันการโจมตีจากต่างชาติได้

อย่างไรก็ตาม โครงการซึ่งปกปิดเป็นความลับสุดยอดนี้ไม่เป็นที่รู้จักของนักวิทยาศาสตร์พลเรือน ซึ่งพยายามค้นหาว่า แท้จริงมันเป็นโครงการอะไรกันแน่

ศาสตราจารย์อู๋ หย่งเว่ย รองผู้อำนวยการสถาบันคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงของมหาวิทยาลัยชิงหวาระบุว่า เขาเพิ่งรู้จักโครงการนี้เป็นครั้งแรกจากรายงานข่าวของสื่อมวลชนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และกล่าวว่า เขารู้สึกประหลาดใจมาก โดยโครงการได้อ้างว่า เป็นการพัฒนาครั้งแรกในโลก ซึ่งแสดงว่าต้องทำบางสิ่งบางอย่างที่มีความพิเศษสุด

"ผมอ่านข่าวชิ้นนี้อยู่หลายตลบแต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามันคืออะไร” เขากล่าว

ด้านศาสตราจารย์เฉิน กัง นักวิทยาศาสตร์ซุเปอร์คอมพิวเตอร์ของสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูงของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences’ Institute of High Energy Physics) ก็รู้สึกแปลกใจเช่นกัน และสงสัยว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ ที่คิดค้นขึ้นนี้จะนำมาประยุกต์ใช้ในการวิจัย หรือในอุตสาหกรรมได้เมื่อไรและอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น