xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งสร้าง อ.สุขภาพดี หวังเซฟกระเป๋าตังค์รัฐก่อนถังแตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เซฟเงินสุดตัว ป้องกันรัฐถังแตก หลังพบค่ารักษาพยาบาลบานปลายขึ้นเรื่อยๆ ปี 2554 ยอดพุ่งถึง 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า ภายใน 10 ปี เผยจับมือ ม.นเรศวร สปสช. และ สสส.ทำโครงการนำร่องสร้างอำเภอสุขภาพดี หวังปรับพฤติกรรมสุขภาพแก้ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ ระบุ 3 ปีรู้ผล
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (16 ต.ค.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวแถลงข่าวความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ มุ่งสู่อำเภอสร้างเสริมสุขภาพ ประชาชนมีสุขภาพดี แข็งแรง ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ที่ผ่านมางบประมาณรักษาพยาบาลของประเทศบานปลายขึ้นเรื่อยๆ จาก 170,203 ล้านบาท ในปี 2544 เป็น 403,459 ล้านบาท ในปี 2554 หรือเพิ่มขึ้น 2.4 เท่าตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การลดป่วยและลดโรคของคนไทยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป สธ.จะเน้นพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System : DHS) ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการดูแลตำบลและหมู่บ้าน

“เครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอจะเน้นการระดมความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน และภาคีเครือข่าย ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสุขภาพของพื้นที่ร่วมกัน เน้นหนักที่การส่งเสริมป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นปัญหาของพื้นที่ โดยตั้งเป้าหมายให้ครบ 835 อำเภอทั่วประเทศภายในปี 2559 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายคนไทยอายุยืนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80 ปี และมีอายุการสุขภาพดีไม่น้อยกว่า 72 ปีภายใน 10 ข้างหน้า” รองปลัด สธ.กล่าว

นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า สธ.ได้ร่วมมือกับ ม.นเรศวร สปสช. สสส.และเครือข่ายบริการสุขภาพที่ 2 และ 3 จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ นำร่อง 24 อำเภอ ใน 10 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน เพื่อมุ่งสู่อำเภอสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อสุขภาพดี ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2556 - 30 ก.ย. 2559 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส.และวางแผนจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยบริการในสังกัดในเขตบริการสุขภาพอื่นๆ พัฒนารูปแบบการสร้างสุขภาพที่เหมาะสมกับประชาชนและบริบทในแต่ละพื้นที่ต่อไป

ด้าน ผศ.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.นเรศวร กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ม.นเรศวร จะให้การสนับสนุนด้านวิชาการ โดยพัฒนาศักยภาพผู้อำนวยการ รพช.และ สสอ.24 อำเภอใน 10 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร อุทัยธานี และชัยนาท ให้มีทักษะบริหารจัดการและมีภาวะผู้นำแบบใหม่ที่สามารถสร้างทีมงาน และระดมทุนที่มีในพื้นที่ ทั้งเงิน กำลังคน และทุนทางสังคมอื่นๆ เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาสุขภาพของพื้นที่
ผศ.นพ.ภูดิท กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ จะมีการจัดทำฐานข้อมูลและสารสนเทศด้านสุขภาพระดับอำเภอ การสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ในระดับอำเภอ โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ จะช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับพื้นที่ 24 อำเภอ สนับสนุนด้านวิชาการในการบริหารจัดการบริการสุขภาพระดับอำเภอ รวมทั้งการวิจัยเพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอให้กับประเทศไทยต่อไป

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผอ.สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สสส.กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างสุขภาพที่ดี ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศได้ จากข้อมูลสุขภาพของประชาชน พื้นที่เป้าหมายมีประชากรราว 6.4 ล้านคน พบว่า ปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยนอกที่พบบ่อย 5 อันดับคือ โรคระบบไหลเวียน โรคทางเดินหายใจ โรคระบบกล้ามเนื้อและโครงกระดูก และโรคระบบต่อมไร้ท่อและโภชนาการ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับวิถีชีวิต เช่น ควบคุมการบริโภค เพิ่มการออกกำลังกาย จึงจำเป็นต้องเสริมศักยภาพของเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ 3 ด้าน คือ 1.พัฒนาศักยภาพของบุคลากรสาธารณสุข และจัดการความรู้ 2.พัฒนาเครือข่าย และ 3.พัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น