xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สั่งชะลอจ้างพนักงาน-รัฐส่อถังแตก-ลอยแพลูกจ้าง-ป.ตรีวืด!หมื่นห้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-เปิดเอกสาร รัฐส่อถังแตก! สธ.สั่งชะลอจ้างพนักงาน แถมป.ตรีไม่ให้ 1.5 หมื่นบาท มีผล 1 ต.ค.นี้ ขณะที่ลูกจ้างชั่วคราวอาจถูกลอยแพ ด้านรัฐบาลร้อนตัวแจง “หมอประดิษฐ” โบ้ยเงินนอกงบประมาณ รับให้กลับไปคิดใหม่ แก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง เหตุเพิ่มกำลังคน 1.2 แสน เป็น 1.4 แสนคนก็หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีก 10-20% หรือเพิ่ม จาก 2พันล้านเป็น 5.8 พันล้านบาท รอเคาะ 30 ก.ย.นี้ ด้าน "รองปลัดวชิระ" ยันเป็นเงินนอกงบประมาณ ไม่ใช้เงินในงบประมาณ

วานนี้(26 ก.ย.56) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีนโยบายที่จะให้เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท แต่ผ่านมาแล้วสองปีมีพนักงานจำนวนมากทั้งในภาครัฐและเอกชนที่ไม่ได้รับเงินเดือนตามที่รัฐบาลกำหนด กระทั่งมีการออกมาเรียกร้องจากหลายหน่วยงาน เช่น กรณี ครูธุรการ เป็นต้น

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้ออกหนังสือด่วนที่สุดที่ สธ 0201.304/ว 815 เรื่อง ชะลอการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ถึง อธิบดีทุกกรม/เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา/ผู้อำนวยการสำนักและหน่วยงานในสังกัดสำนักปลัดสาธารณสุข แพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ผู้อำนวยการวิทยาลัยทุกแห่ง วันที่ 23 ก.ย.56 ลงนามโดยนายวชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข

โดยเนื้อหาในเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรชาชีพที่ ก.พ.รับรองคุณวุฒิแล้ว หรือผู้มีทักษะประสบการณ์ เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 โดยอ้างถึงรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุขครั้งที่ 5/2556 วันที่ 9 กันยายน 2556 มีรายละเอียด ดังนี้

ตามที่คณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข จัดให้มีการประชุมเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 โดยได้พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเรื่องต่าง ๆ จำนวน 7 ฉบับ โดยมติที่ประชุมได้กำหนดกลักการไว้ ดังนี้

1 ชะลอการจัดทำสัญญาจ้างและให้ส่วนราชการ (กรม) เร่งรัดทำกรอบอัตรากำลังคนในภาพรวม โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุขขออนุมัติ และ แจ้ง อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุขทราบตามข้อ 9 และ 29 วรรค 2 ของระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2556

2 จัดลูกจ้างชั่วคราวที่ผ่านการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้กรอบอัตรากำลังคนที่กำหนดไว้ตามข้อ 1โดยให้อยู่ภายในกรอบวงเงินไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวในภาพรวมของเครือข่ายบริการระดับเขตได้ รวมถึงการเยียวยาสำหรับผู้ได้รับค่าจ้างลดลง สัญญาจ้างให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2556 และจะดำเนินการได้เมื่อเครือข่ายบริการระดับเขตอนุมัติแล้ว ส่วนลูกจ้างชั่วคราวรายใดที่ประเมินไม่ผ่านหรือตำแหน่งที่เกินกรอบอัตรากำลังตามข้อ 1 หน่วยบริการสามารถจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงลักษณะอื่นได้ เช่น รายวัน รายคาบ จ้างเหมาบริการหรือรายเดือนต่อไปได้ ซึ่งการบริหารค่าจ้างให้อยู่ภายในกรอบวงเงินร้อยละ 10 ข้างต้น ทั้งนี้ขอให้ดำเนินการคัดเลือกลูกจ้างชั่วคราวที่ผ่านการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุขโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการทำงานอย่างแท้จริง

3 ให้ยกเลิกบัญชีค่าจ้างแนบท้ายประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เรื่องค่าจ้างของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2556 ทั้งบัญชีแนบท้าย 1 และ 2 แล้วให้ใช้บัญชีค่าจ้างใหม่ตามที่ส่งมาด้วย

4 การได้รับค่าจ้างของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 กำหนดให้ได้รับอัตราค่าจ้างไม่เกินขั้นต่ำของบัญชีแนบท้ายตามข้อ 3 (กลุ่มเทคนิคที่เป็นสายงานวิชาชีพ และกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ อัตราค่าจ้างตามบัญชีที่ส่งมาด้วย เป็นอัตราที่ได้เพิ่ม 1.2 เท่า จากอัตราเงินเดือนที่เป็นสายงานเดียวกัน โดยมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารกำลังคนระดับจังหวัดหรือเรียกชื่ออย่างอื่นของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เป็นผู้กำหนด และเสนอเครือข่ายบริการระดับเขตให้ความเห็นชอบ

5 ลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่แสดงเจตนาเข้ารับการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หากขณะนี้ประสงค์จะแสดงเจตนาเข้ารับการประเมินให้สามารถทำได้ และส่วนราชการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเรื่องหลักเกณฑ์ว่าด้วยการประเมินลูกจ้างชั่วคราวเข้าสู้ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2556

6 การบริหารจัดการในภาพของกรมต่างๆ และวิทยาลัยในสังกัดในสถาบันพระบรมราชชนก ให้ถือปฏิบัติตามหลักการข้างต้น
ในการนี้ ขอให้ส่วนราชการในสังกัดได้ถือปฏิบัติตามมติคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุขข้างต้น

อนึ่งการจ้างงานของลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง ขณะนี้ยังคงให้ถือปฏิบัติตามหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ สธ 0201.ว479 ลงวันที่ 30 เม.ย.2556 ต่อไป สำหรับลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงที่มีการจ้างงานไว้ในขณะนี้ หากรายใดไม่ผ่านการประเมินหรือไม่แสดงเจตนาเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ให้หน่วยบริการพิจารณาการจ้างตามมติคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุขในข้อ 2 ส่วนผู้ที่ผ่านการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ต้องจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยไม่มีการปรับค่าจ้างคงรับค่าจ้างอัตราเดิมไปพลางก่อน และให้หน่วยบริการมีคำสั่งจ้างลูกจ้างชั่วคราวข้างต้น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2556 จนกว่าการจัดทำกรอบอัตรากำลังคนในภาพรวมจะแล้วเสร็จ

ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า จากเดิมแผนในการปรับอัตรากำลังคนประมาณ 1.2 แสนคน แต่กลับมีการเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1.4 แสนคน เพราะโรงพยาบาลจ้างคนเพิ่มอีก ซึ่งไม่ถูกหลักการ จึงต้องกลับมาคิดใหม่ ไม่ให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง เพราะคนที่เพิ่มขึ้นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 10-20 ซึ่งโรงพยาบาลจะต้องไปหาทางจัดการรายได้เพิ่ม และเกลี่ยงบประมาณที่มีเอง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะมีการประชุมหารือในส่วนของคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งในวันที่ 30 ก.ย.นี้

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องชะลอการบรรจุพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เพราะประสบปัญหางบบานปลายจริง ซึ่งจากจำนวนลูกจ้างทั้งหมด 1.4 แสนคน การปรับอัตราค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่เกิน 2,000 ล้านบาท แต่จากการที่หน่วยบริการต่างๆ ทำบัญชีอัตราเงินเดือนมาให้สำนักงานปลัด พบว่าเพิ่มสูงถึง 5,800 ล้านบาท การแก้ปัญหา สธ.จึงได้ออก 3 มาตรการคือ 1.ตั้งงบประมาณไว้ที่วงเงินไม่เกิน 10% ของงบประมาณเดิมในเขตบริการสุขภาพ 2.จัดทำกรอบความจำเป็นของหน่วยบริการตามความเป็นจริงให้แล้วเสร็จสิ้น ต.ค.นี้ และ 3.การปรับอัตราจ้างในส่วนของลูกจ้างที่ไม่ใช้กลุ่มวิชาชีพไม่เกินเงินเดือนขั้นต่ำ 7,590 บาท ส่วนลูกจ้างวิชาชีพจะปรับเพิ่มที่ 1.2 เท่าของเงินเดือนเดิมเทียบกับข้าราชการในระดับเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อปรับเรื่องงบประมาณเรียบร้อยแล้ว สธ.จะบรรจุให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขย้อนหลังให้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2556 ตามเดิม

ทั้งนี้ การชะลอการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขไม่เกี่ยวข้องกับกรณีรัฐถังแตกแต่อย่างใด เพราะงบประมาณที่ใช้ตรงนี้เป็นเงินนอกงบประมาณ คือเป็นเงินบำรุงในการจ่าย ส่วนกรณีกลุ่มปริญญาตรีไม่ได้เงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท นั้น เป็นเพราะว่าในกลุ่มพนักงานทั่วไปมีการจ้างงานในไม่ตรงกับวุฒิ ส่วนกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เงินเดือนขั้นต่ำเกิน 15,000 บาทอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น