xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! สปสช.ยึกยักจ่ายชดเชยกรณีตายไม่เต็มอัตรา จาก 4 แสน ให้แค่ 8 หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายผู้ป่วยแฉ! สปสช.จ่ายเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบทางการแพทย์ไม่เป็นธรรม ยกเคสเสียชีวิตควรได้เต็มๆ 4 แสนบาท กลับได้แค่ 8 หมื่นบาท จี้ "หมอประดิษฐ" คุมเรื่องเอง ด้าน สปสช.เผยจ่ายเงินชดเชยไม่จำเป็นต้องเต็มอัตรา ชี้ต้องดูเหตุผลประกอบ ระบุบางกรณีมาจากตัวผู้ป่วยเอง แต่ก็ยินยอมจ่าย จนขณะนี้งบบานปลายและถูก สตง.ท้วงติง
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกิดความไม่เป็นธรรมในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการแพทย์ ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดอัตราการจ่ายเงินชดเชยไว้ดังนี้ 1.กรณีเสียชีวิต 400,000 บาท 2.กรณีพิการจ่าย 240,000 บาท และ 3.กรณีติดเชื้อรุนแรงหรือเกิดความเสียหายอื่นๆ จ่าย 100,000 บาท แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการ ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณาโดยไม่อิงที่ผู้ได้รับผลกระทบ เช่น กรณีเสียชีวิตควรได้รับเงินชดเชยเต็มอัตราคือ 400,000 บาท แต่กลับได้เพียง 80,000 บาท แม้ผู้เสียหายจะยื่นร้องต่อศาล ซึ่งสุดท้ายศาลสั่งให้จ่าย 100,000 บาท แต่กรรมการชุดนี้ก็ไปยื่นอุทธรณ์อีก โดยไม่ยอมจ่ายให้คนไข้ง่ายๆ

“อยากถามว่าแบบนี้ยุติธรรมกับคนไข้ที่ได้รับความเสียหายหรืออย่างไร เรื่องนี้ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ควรลงมาให้ความเป็นธรรม และหันไปผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... จะดีกว่า เพราะจะครอบคลุมทุกสิทธิ ไม่ใช่แค่สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคเท่านั้น” นางปรียนันท์ กล่าว

ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ในฐานะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.จ่ายกรณีมาตรา 41 ไปมากถึงร้อยละ 90 ของคนไข้ที่ร้องเรียนเข้ามา ขณะที่ต่างประเทศจ่ายเพียงร้อยละ 30 ของคนไข้ที่ร้องเรียนเท่านั้น เนื่องจากในต่างประเทศจะเข้มงวดกับการตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นว่ามาจากความผิดพลาดหรือผลกระทบทางการแพทย์หรือไม่ หากไม่ใช่และพบว่ามาจากตัวผู้ป่วยเองก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไข ซึ่งของไทยที่ผ่านมาไม่ใช่ มีการจ่ายตลอด ทำให้งบบานปลาย จนขณะนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ติงว่าควรมีการพิจารณาการจ่ายให้ถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้นก็จะใช้จ่ายเงินได้ยากขึ้น

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การจ่ายเงินที่ไม่ได้จ่ายเต็มเพดานที่กำหนด อย่างกรณีเสียชีวิตจ่าย 4 แสนบาท แต่ความเป็นจริงอาจจ่ายไม่ถึงนั้น เนื่องจากเมื่อมีการตรวจสอบอาจพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากผลกระทบทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวก็เป็นได้ ต้องดูเหตุผลทั้งหมดประกอบด้วย ไม่ใช่ว่าจะต้องจ่ายเต็มทุกราย หากทำเช่นนั้นงบประมาณอาจไม่เพียงพอ ทั้งนี้ สำหรับการช่วยเหลือในปี 2555 มีจำนวน 951 ราย พิจารณาเข้าเกณฑ์ 834 ราย จ่ายเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 98.58 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น