xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยชี้ น้ำเมาสร้างปัญหาให้กลุ่มคนจนมากที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยชี้ออกนโยบายแก้ปัญหาเหล้า ต้องให้ความสำคัญกับคนจน หลังการศึกษาชี้ชัดปัญหาจากการดื่มเหล้า ทั้งอุบัติเหตุ ความรุนแรง ฯลฯ เทไปที่คนจนเกือบทั้งหมด ขณะที่คนชั้นกลางเจอปัญหาการเงิน

น.ส.จินตนา จันทร์โคตรแก้ว นักวิชาการ สำนักวิจัยนโนบายสร้างเสริมสุขภาพ (สวน.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “ยิ่งจนยิ่งมีปัญหาที่เกิดจากการดื่ม” ในการประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก ครั้งที่ 2 (Global Alcohol Policy Conference 2013) ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสํารวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราปี 2554 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ แล้วนำมาจัดกลุ่มตัวอย่างเป็น 5 กลุ่มตามเศรษฐสถานะ คือ กลุ่มจนที่สุด กลุ่มจน กลุ่มปานกลาง กลุ่มรวย และกลุ่มรวยที่สุด เพื่อทำการศึกษาใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ศึกษาการกระจายตัวของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 2.ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐสถานะทางเศรษฐกิจและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยปัญหาจากการดื่มที่เลือกศึกษามี 5 เรื่อง ปัญหาด้านการเงิน อุบัติเหตุและการบาดเจ็บ ความรุนแรงในครอบครัวและความสัมพันธ์ในครัวเรือน การทำร้ายคนอื่นนอกครัวเรือน และปัญหาในการทำงาน

น.ส.จินตนา กล่าวว่า ผลการศึกษาการกระจายตัวของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า ปัญหาด้านการเงิน อุบัติเหตุและการบาดเจ็บ ความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาความสัมพันธ์ในครัวเรือน ที่เกิดจากการดื่มของคนในครัวเรือน พบมากที่สุดในกลุ่มคนที่มีเศรษฐสถานะปานกลาง ส่วนปัญหาทำร้ายคนอื่นนอกครัวเรือน และปัญหาในการทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับการดื่มของคนในครัวเรือน พบมากที่สุดในกลุ่มคนจน สาเหตุที่ปัญหาที่เกิดจากการดื่มพบมากในกลุ่มคนเศรษฐกิจสถานะปานกลาง อาจเนื่องจากกลุ่มคนเศรษฐสถานะปานกลางเป็นกลุ่มคนที่มีสัดส่วนของนักดื่มสูงที่สุด

น.ส.จินตนา กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ สถานะทางเศรษฐกิจ และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า กลุ่มคนรวยมีปัญหาทางด้านการเงิน ปัญหาการทำงาน ที่เกิดจากการดื่มของคนในครัวเรือน น้อยกว่ากลุ่มคนจนประมาณร้อยละ 70 และกลุ่มคนรวยมีปัญหาการบาดเจ็บและอุบัติเหตุ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความสัมพันธ์ในครัวเรือน และปัญหาการใช้ความรุนแรงกับบุคคลอื่นที่เกิดจากการดื่มของคนในครัวเรือน น้อยกว่ากลุ่มคนจนประมาณร้อยละ 50

“ผลการศึกษาในเรื่องนี้ทำให้เห็นว่าในการออกแนวทางการแก้ปัญหา ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มคนจนในการคิดนโยบายต่างๆ เพราะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูง ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาพุ่งได้ตรงจุดกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น” น.ส.จินตนา กล่าว
 

กำลังโหลดความคิดเห็น