xs
xsm
sm
md
lg

นักสูบนราธิวาสพ่นควันที่สาธารณะเพียบ เหตุเพื่อความเพลิดเพลิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำรวจพบนักสูบนราธิวาสพ่นควันพล่านสถานที่สาธารณะ ทั้งมัสยิด โรงพยาบาล ตลาดสด เพียบ ให้เหตุผลสูบเพื่อความเพลิดเพลินและพบปะเพื่อนฝูง เหมือนจิบชา กาแฟ จี้เร่งแก้ทัศนคตินี้ ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่เพิ่ม และรณรงค์ห้ามสูบในสถานที่สำคัญ หลังนักสูบเห็นอันตรายจากควันบุหรี่มือสองต่อคนรอบข้างมากขึ้น
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
น.ส.สาวิณี ชาญสินธพ ผู้วิจัยเรื่องสถานการณ์บุหรี่ และทัศนคติเกี่ยวกับบุหรี่ เพื่อการขับเคลื่อนสู่จังหวัดปลอดบุหรี่ ในพื้นที่ จ.นราธิวาส เปิดเผยในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ว่า จากการสุ่มตัวอย่างเพื่อสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ใน จ.นราธิวาส จำนวน 470 ราย ช่วงอายุ 15-50 ปี ระหว่างปี 2554-2555 พบว่า กลุ่มผู้สูบบุหรี่เป็นเพศชาย ถึงร้อยละ 57 โดยอัตราการสูบบุหรี่เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 9 มวน ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่พบว่า ร้อยละ 50 ของกลุ่มผู้สูบบุหรี่มักสูบบุหรี่สถานที่สาธารณะ เช่น วัด มัสยิด สถานพยาบาล ตลาดสด และสถานบันเทิง เป็นต้น โดยเฉพาะสถานที่ห้ามสูบ เช่น ตลาดสด มีอัตราการสูบถึงร้อยละ 87.19 สถานพยาบาล ร้อยละ 72 โดยผู้สูบรับทราบว่ามีกฎหมายห้ามสูบในสถานที่ดังกล่าว

น.ส.สาวิณี กล่าวอีกว่า จากการวิจัยพบว่า กลุ่มผู้สูบบุหรี่รับทราบกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ แต่สาเหตุที่ยังสูบบุหรี่อยู่จากการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่า สาเหตุมาจากทัศนคติเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ ประชากรในพื้นที่ไม่ได้มีทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ในแง่ลบ โดยร้อยละ 39 ระบุว่า สูบบุหรี่เพื่อต้องการความเพลิดเพลินในเวลาว่าง และเวลาพักผ่อนตามสวนสาธารณะ รองลงมาให้เหตุผลว่าเป็นการพบปะเพื่อนฝูง โดยปัญหาที่พบคือ ส่วนมากยังมองบุหรี่เป็นสิ่งแก้เหงา เป็นเครื่องมือในการพบปะ เหมือน ชา กาแฟ ซึ่งทัศนตินี้เป็นสิ่งที่ชาวนราธิวาสคิดว่าเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง แต่พอนำเสนอสถานการณ์พิษภัยของควันบุหรี่มือสองมากขึ้น พบว่า คนนราธิวาสเริ่มมองเห็นอันตรายของคนรอบข้างมากกว่าสุขภาพของตนเอง

น.ส.สาวิณี กล่าวด้วยว่า ผลจากการวิจัยเชื่อว่า ในอนาคต จ.นราธิวาส จะสามารถพัฒนาให้มีพื้นที่ปลอดบุหรี่ได้มากขึ้น โดยเบื้องต้นต้องเร่งรณรงค์เรื่องการห้ามสูบในสถานที่สำคัญก่อน เช่น ตลาดสด สถานพยาบาล ศาสนสถาน รวมทั้งรณรงค์เรื่องความไม่คุ้มค่าเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อบุหรี่และยาสูบมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่ออบรม เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2554 และการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ในสถานพยาบาล และศาสนสถาน พบว่า ผู้ที่เคยสูบในสถานที่เหล่านี้ ร้อยละ 84 เริ่มลดปริมาณการสูบน้อยลง ขณะที่จำนวนผู้สูบที่ยังเลิกไม่ได้ แต่คิดจะเลิกในอนาคตมีอยู่ร้อยละ 28.3 นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มผู้สูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะเลือกจะลดการสูบในสถานที่ห้ามสูบเนื่องจากเกรงใจผู้ไม่สูบบุหรี่ที่จะได้รับควันมือสองด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้ สถานพยาบาล สถานศึกษา วัด และมัสยิด เป็นเขตปลอดบุหรี่ 100%


กำลังโหลดความคิดเห็น