xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ราชวิถีโต้! ปฏิเสธทำคลอด ยันคนไข้มาตอนเด็กตายแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รพ.ราชวิถีโต้ปฏิเสธทำคลอดหญิงท้อง แจง รพ.เอกชนแนะนำให้มารักษาจริง แต่กลับไปทำคลอดเองที่บ้านจนเด็กตาย ระบุ ตร.และมูลนิธินำส่งก็ให้การดูแลอย่างดี แต่ไม่สามารถให้บริการชันสูตรได้ เหตุไม่มีแพทย์นิติเวช จึงแนะนำให้ไป รพ.รามาธิบดี แทน ด้าน สบส.เร่งตั้งกรรมการสอบเป็นเคสฉุกเฉินหรือไม่ สธ.เตรียมเสนอรัฐเพิ่มโครงการคลอดทุกที่ไม่ต้องสำรองจ่าย ขณะที่ สปส.เผยนำร่องแล้วใน กทม.ก่อนยันหญิงท้องจ่ายสมทบไม่ครบตามเกณฑ์



วันนี้ (14 ต.ค.) นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวถึงกรณีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งปฏิเสธทำคลอดให้ น.ส.ชลธิชา วรรณทิพย์ อายุ 31 ปี เนื่องจากสิทธิประกันสังคมไม่ครอบคลุม และต้องจ่ายค่าทำคลอดเอง 18,000 บาท จนกลับไปคลอดเองที่บ้านและเด็กเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและมูลนิธิร่วมกตัญญูได้นำ น.ส.ชลธิชา ส่งเข้า รพ.ราชวิถี เพื่อทำการรักษา แต่กลับถูกปฏิเสธให้ไป รพ.รามาธิบดี แทน ว่า รพ.ราชวิถี ไม่เคยปฏิเสธการรับตัวผู้ป่วย ซึ่งข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวคือ หญิงตั้งครรภ์ได้เข้าทำการตรวจที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสิทธิประกันสังคม โดยแนะนำให้มาทำคลอดที่ รพ.ราชวิถี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่หญิงคนดังกล่าวเคยทำคลอดมาแล้ว เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่หญิงคนดังกล่าวไม่ได้มาทำคลอดที่ รพ.ราชวิถี แต่อย่างใด โดยพบว่ากลับไปคลอดเองที่บ้านแล้วลูกเสียชีวิต ซึ่งชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงได้เรียกมูลนิธิร่วมกตัญญูมาช่วยตัดสายสะดือ จากนั้นได้ส่งหญิงคนดังกล่าวพร้อมลูกมายัง รพ.ราชวิถี ซึ่งพยาบาลที่ทำหน้าที่คัดกรองก็ดูแลเป็นอย่างดี ตรวจสัญญาณชีพก็พบว่ายังปกติ

“จากการสอบถามเจ้าหน้าที่พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ทางโรงพยาบาลช่วยชันสูตรเด็กด้วย เนื่องจากอาจเป็นคดี แต่ รพ.ราชวิถีไม่มีแพทย์นิติเวชประจำโรงพยาบาล จึงแนะนำให้ส่งตัวต่อไปที่ รพ.รามาธิบดี แทน ซึ่งมีแพทย์นิติเวชพร้อมทำการชันสูตร ซึ่งหญิงคนดังกล่าวและเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ขัดข้อง จึงทำการส่งตัวหญิงคนดังกล่าวและลูกไปชันสูตรที่ รพ.รามาธิบดี” ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าว
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า จากข้อมูลที่ทราบคือ ผู้เป็นแม่ได้ไป รพ.เอกชน เพราะมีอาการปวดท้อง มีเลือดออก และได้แจ้งแพทย์ว่าขาดประจำเดือนมาแล้ว 2 เดือน แพทย์จึงตั้งสมมติฐานว่าเป็นการตั้งครรภ์ จึงทำการอัลตราซาวนด์และตรวจภายใน พบว่า ปากมดลูกเปิดแล้วประมาณ 8 เซนติเมตร มีอาการใกล้คลอด ซึ่ง รพ.เอกชน ได้อธิบายสิทธิให้คนไข้ทราบว่า สิทธิในการคลอดไม่ว่าจะเป็นผู้ประกันตนเอง หรือใช้สิทธิภรรยาของผู้ประกันตน สามารถไปคลอดที่ใดก็ได้ ซึ่งหากไปคลอดที่ รพ.รัฐ ราคาจะถูกกว่า และสามารถเบิกแบบเหมาจ่ายได้ 1.3 หมื่นบาท แม้ค่าทำคลอดจะไม่ถึงจำนวนเหมาจ่ายก็ตาม จะทำให้มีเงินเหลือใช้ในการดูแลลูกต่อไป จึงแนะนำให้ไปคลอที่ รพ.ราชวิถี แต่ลงเอยด้วยคนไข้กลับไปคลอดที่บ้าน จนเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ก็ต้องแสดงความเสียใจกับคุณแม่และครอบครัวด้วย

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การเบิกค่าทำคลอดสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบไม่ต่ำว่า 7 เดือนภายใน 15 เดือน จึงจะได้สิทธิดังกล่าว ซึ่งสามารถไปทำคลอดที่ใดก็ได้ตามความสะดวก ทั้ง รพ.รัฐขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก รพ.เอกชน หรือแม้แต่คลอดภายในรถแท็กซี่ระหว่างทาง คลอดที่บ้าน ก็มีสิทธิได้ค่าทำคลอดทั้งหมด 1.3 หมื่นบาท โดยมีสิทธิได้รับเพียง 2 ท้อง แต่หากคู่สมรสเป็นผู้ประกันตนด้วยก็จะมีสิทธิรวมกันคือ 4 ท้อง ซึ่งกรณีนี้ต้องตรวจสอบว่าหญิงคนดังกล่าวเคยเบิกค่าทำคลอดมาแล้วหรือยัง แต่เท่าที่ทราบคือหญิงคนดังกล่าวยังจ่ายสมทบไม่ครบ 7 เดือนตามที่กำหนด คือจ่ายเพียง 4 เดือนเท่านั้น

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ตามมาตรา 36 ใน พ.ร.บ.สถานพยาบาล ได้มีการคุ้มครองผู้รับบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและ รมว.สาธารณสุข คือเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ ซึ่ง สบส.จะตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางเวชระเบียน โดยมีผู้แทนวิชาชีพร่วมตรวจสอบว่าเข้าข่ายมาตรา 36 ว่าเป็นกรณีฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ โรงพยาบาลมีการให้คำแนะนำอย่างไร การส่งต่อผู้ป่วยมีความปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงคาดว่าไม่น่าใช้เวลานานมากนัก เพราะไม่ใช้กรณีซับซ้อน แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการขอความร่วมมือจากสภาวิชาชีพ แพทยสภา และราชวิทยาสูตินรีเวชแห่งประเทศไทยมาร่วมตรวจสอบ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีปากมดลูกเปิด 8 เซนติเมตร ถือว่าข้าข่ายกรณีฉุกเฉินหรือไม่ นพ.อุดม กล่าวว่า ตามประวัติพบว่าปากมดลูกเปิดแล้ว 8 เซนติเมตร ถือว่าเป็นฉุกเฉินสีเขียว คือฉุกเฉินแต่ไม่วิกฤตที่อันตรายถึงชีวิต ซึ่ง รพ.เอกชนคงพิจารณาแล้วว่า ขณะนั้นผู้ป่วยอยู่ไม่ไกล รพ.ราชวิถี น่าจะสามารถเดินทางไปทำคลอดได้ทัน จึงแนะนำให้ไปทำคลอดที่ รพ.รัฐ ซึ่งมีราคาถูกกว่า

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ต้องขอแสดงความเสียใจกับคุณแม่และครอบครัวในกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีนโยบายเรื่องฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากจะดียิ่งขึ้นรัฐบาลอาจจะต้องเพิ่มเรื่องคลอดทุกที่ด้วย แต่การดำเนินงานเรื่องคลอดทุกที่นั้นจะต้องเซ็ตระบบให้มีความพร้อม 2 ด้าน คือ 1.สถานบริการ โดยแพทย์ พยาบาล ห้องคลอด อุปกรณ์ จะต้องมีความพร้อม และ 2.ระบบการตามจ่ายทั้ง 3 กองทุน จะต้องมีความพร้อมด้วย ซึ่งประเด็นหลังนี้ถือว่าไม่ง่ายในการดำเนินการ ซึ่งขณะนี้คงต้องดำเนินการแค่เรื่องการฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิก่อน ส่วนเรื่องการคลอดทุกที่โดยไม่ต้องสำรองจ่ายนั้นเป็นเรื่องที่ยังต้องใช้เวลา

นพ.สรเดช กล่าวว่า เมื่อราวปี 2548 ได้มีการเปลี่ยนโดยผู้ประกันตนไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายก่อน โดย สปส.จะจ่ายโดยตรงให้โรงพยาบาลเลย แต่พบว่า ไม่เป็นที่นิยม จึงกลับมาใช้ระบบเดิมที่จ่ายก่อนเบิกทีหลัง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สปส.ได้ทำโครงการทดลองใน กทม.โดยให้โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมแจ้งมายังสำนักงานฯ โดย สปส.จะไปจ่ายค่าทำคลอดให้ถึงโรงพยาบาลจำนวน 1.3 หมื่นบาท และค่าสมทบเลี้ยงดูบุตรหลังคลอดจำนวน 50% ของเงินเดือนหรือค่าจ้างเป็นเวลา 3 เดือน

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลกำลังดำเนินการชันสูตรศพซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์จะทราบสาเหตุของการเสียชีวิต ส่วนคนไข้นั้นขณะนี้ได้ไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนที่มีสิทธิประกันสังคมแล้ว




เลขาธิการ สปส.เล็งเสนอบอร์ด กก.การแพทย์ สปส.ปรับเกณฑ์เบิกค่าคลอดบุตรให้ รพ.เบิกจาก สปส.โดยตรง เร่งตรวจสอบ รพ.เอกชนระบบประกันเมินทำคลอด เหตุสาวท้องไม่มีเงินจ่าย หากทำผิดพร้อมลงโทษ

วันนี้ (14 ต.ค.) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงานและรักษาการเลขาธิการประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในระบบประกันสังคมปฏิเสธการรักษานางชลธิชาวรรณทิพย์ วัย 31 ปี ซึ่งตั้งครรภ์และเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด จึงต้องกลับบ้านไปคลอดเองและเด็กเสียชีวิต เนื่องจากไม่มีเงินค่าทำคลอดว่าตนได้สั่งการให้ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปตรวจสอบเวชระเบียนการรักษาของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวว่าเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาซึ่งกำหนดไว้ในสัญญาที่ทำกับประกันสังคมหรือไม่รวมเเละดูด้วยว่ามีการกระทำผิด พ.ร.บ.ทางการแพทย์หรือไม่ เนื่องจากปฏิเสธการรักษา ซึ่งหากโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวให้การรักษาที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในสัญญาของสปส.หากเป็นการกระทำผิดครั้งแรกจะลงโทษโดยการตักเตือน และลดโควตาผู้ประกันตน ถ้ายังกระทำผิดซ้ำก็จะมีโทษถูกยกเลิกการเป็นคู่สัญญากับ สปส.และถ้ากระทำผิด พ.ร.บ.ทางการแพทย์อีกก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตการรักษา คาดว่าจะรู้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ในสัปดาห์นี้

นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนมีแนวคิดในการแก้ปัญหาข้างต้นโดยการปรับเกณฑ์การเบิกเงินสิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตรซึ่งปัจจุบันผู้ประกันตนไม่ว่าจะคลอดบุตรที่โรงพยาบาลใดก็ตามก็สามารถมาเบิกเงินสิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตรกับ สปส.ได้ 1.3 หมื่นบาทต่อการคลอดบุตร 1 คน เปลี่ยนเป็นให้โรงพยาบาลที่ทำคลอดสามารถเบิกเงินสิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตรกับ สปส.ได้โดยตรงเพื่อตัดปัญหาในเรื่องการปฏิเสธการทำคลอดให้แก่ผู้ประกันตน เนื่องจากผู้ประกันตนไม่มีเงินจ่ายค่าคลอดบุตรโดยตนจะเสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.ในเร็วๆ นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น