xs
xsm
sm
md
lg

อันตรายจากโรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย... ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ

คุณผู้หญิงเคยสังเกตอาการผิดปกติของระบบสืบพันธุ์เหล่านี้หรือไม่ ความผิดปกติที่เห็นได้ชัดเจนอย่าง มีประจำเดือนกระปริบกระปรอย ไม่มีประจำเดือน หรือแต่งงานมาระยะหนึ่งแล้วมีภาวะมีบุตรยาก แต่รู้หรือไม่อาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจาก “โรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่”

หลายคนอาจเกิดคำถามว่าเมื่อมีถุงน้ำหลายใบในรังไข่จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ลำดับแรกข้อมูลที่คุณผู้หญิงควรรู้ก่อนก็คือ โดยปกติรังไข่เป็นแหล่งฟูมฟักเซลล์ไข่ ตั้งแต่เป็นเซลล์อ่อนจนโตเต็มที่ พร้อมที่จะผสมกับเซลล์อสุจิจากฝ่ายชาย แต่เมื่อเกิดถุงน้ำกระจายแทรกในรังไข่ ย่อมส่งผลให้รังไข่ทำงานผิดปกติแน่นอน ซึ่งอาการที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอาการที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม อาการที่ไม่สามารถสังเกตเห็นว่ามีความผิดปกติก็ยังมี เช่น เยื่อบุมดลูกหนาตัว (Endometrial hyperplasia) จนอาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูก เป็นต้น นอกจากนี้ การเกิดถุงน้ำในรังไข่ยังเป็นสาเหตุของความผิดปกติของระบบอื่นๆ ของร่างกายตามมาอีกหลายระบบด้วย
แล้วการป้องกันรักษาโรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่ทำได้อย่างไรบ้าง ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ มีคำตอบ

โพลีซีสติก โอวารี ซินโดรม หรือ พี ซี โอ เอส (Polycystic Ovary Syndrome; PCOS) เป็นความผิดปกติของคุณผู้หญิง โดยเกิดมีถุงน้ำเล็กๆ กระจายอยู่ในรังไข่ ชาวบ้านทั่วไปอาจเรียกว่ามีซีสต์ในรังไข่ โรคนี้พบได้ค่อนข้างบ่อย ประมาณหนึ่งในสิบของสตรีวัยเจริญพันธุ์จนถึงอายุ 45 ปี ป่วยด้วยโรคนี้ ทั้งนี้ เนื่องจากรังไข่ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนหลายชนิด ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับรังไข่ มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนอื่นๆ ในร่างกายไม่สมดุลและเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปกติในระบบอื่นๆ ของร่างกาย โดยพบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของคุณผู้หญิงที่มีถุงน้ำในรังไข่ มีระดับฮอร์โมนอินซูลินในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ (Hyperinsulinemia) และร่างกายตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลินน้อยกว่าปกติ (Insulin resistance) ส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงและเกิดภาวะเบาหวานตามมา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
การที่ระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่อยู่ในภาวะสมดุลนั้น มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย โดยคุณผู้หญิงที่มีถุงน้ำในรังไข่มีความเสี่ยงที่จะมีระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ มีภาวะอ้วน ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัว แข็ง ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจวายสูงกว่าคนปกติที่มีอายุอยู่ในวัยเดียวกันถึงเจ็ดเท่า อย่างไรก็ดี การปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ร่วมกับการรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวลงได้อย่างมาก

ความผิดปกติอีกประการหนึ่งคือความผิดปกติภายนอกร่างกายที่สามารถสังเกตุเห็นได้ง่าย เช่น การมีภาวะอ้วนกว่าปกติ อาจมีผิวมัน มีสิวขึ้นบริเวณใบหน้าและตามลำตัวมากกว่าผู้หญิงทั่วไป มีขนขึ้นดกบริเวณแขน ลำตัว ต้นขาและขาหนีบ รวมทั้งผิวหนังอาจมีลักษณะเป็นปื้นสีเข้มกว่าปกติโดยเฉพาะบริเวณข้อพับ คอ แขนและขา ซึ่งลักษณะเหล่านี้มีผลต่อความสวยงามและรูปลักษณ์ภายนอก ส่งผลกระทบด้านจิตใจและความมั่นใจในตนเองของคุณผู้หญิง

นอกจากความผิดปกติที่แสดงออกทางกายแล้ว ความไม่สมดุลของฮอร์โมนยังมีผลต่ออารมณ์และจิตใจด้วย โดยอาจมีอาการซึมเศร้าหรือมีความกังวลต่อเรื่องต่างๆ มากกว่าปกติ คุณผู้หญิงบางท่านอาจมีภาวะอ้วนและเกิดการหยุดหายใจเป็นเวลาสั้นๆ ในช่วงนอนหลับ ทำให้รู้สึกตัวตื่นเป็นระยะๆ นอนหลับไม่สนิท อาจส่งผลให้ง่วง ซึมหรือหงุดหงิดในช่วงเวลากลางวัน หากมีอาการดังกล่าวก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเพื่อแพทย์จะได้วางแผนการดูแลด้านอารมณ์และจิตใจไปพร้อมกับการรักษาภาวะผิดปกติของร่างกาย การเกิดถุงน้ำในรังไข่นี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุหลักคือการได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาจากบิดา-มารดา ดังนั้น คุณผู้หญิงที่มีคุณแม่ พี่สาวหรือน้องสาวป่วยด้วยโรคนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้เช่นกัน

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ขอแนะนำให้คุณผู้หญิงทุกท่านเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคนี้พบได้ค่อนข้างบ่อยในคุณผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ บางครั้งอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่รังไข่มาระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาอย่างชัดเจน คุณผู้หญิงหลายท่านอาจละเลยการไปพบแพทย์จนกระทั่งเกิดการเจ็บป่วยของระบบอื่นๆ ของร่างกายตามมา การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ค้นพบความผิดปกติที่รังไข่ได้ตั้งแต่ระยะแรกซึ่งก็จะช่วยให้คุณผู้หญิงปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่นๆ ด้วย

สำหรับคุณผู้หญิงที่ป่วยด้วยโรคนี้และตั้งครรภ์ ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะแท้งบุตรตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์หรืออาจคลอดก่อนกำหนด รวมทั้งอาจมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติซึ่งผลต่อสุขภาพของคุณผู้หญิงและบุตรในครรภ์


กำลังโหลดความคิดเห็น