xs
xsm
sm
md
lg

เตือน ปชช.เลี่ยงชายหาดใกล้น้ำมันดิบรั่ว เสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง สธ.สั่งเฝ้าระวังอาหารปนเปื้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.สั่งเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพประชาชนจากน้ำมันดิบรั่วในทะเลระยอง หวั่นได้รับสารก่อมะเร็ง ทั้งการสัมผัสโดยตรง และอาหารปนเปื้อน เตือน ปชช.หลีกเลี่ยงสัมผัสคราบโคลนที่ชายหาด แนะกลุ่มกู้ภัยสวมเครื่องป้องกันลดการรับสารเคมี ย้ำหากมีอาการผิดปกติขอให้รีบพบแพทย์ เบื้องต้นพบแล้ว 4 ราย เผยจัดหน้ากากอนามัย 20,000 ชิ้น แจกคนในพื้นที่แล้ว
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันดิบในทะเล ที่ จ.ระยอง ว่า สธ.ได้ดำเนินการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนจากการสูดกลิ่น หรือสัมผัสโดยตรง รวมทั้งเฝ้าระวังการปนเปื้อนของอาหารในบริเวณนั้น ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลรายงานหลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลของต่างประเทศ พบว่า มีการตรวจพบสารพาห์ (Polyacyclic aromatic hydrocarbon: PAH ) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปนเปื้อนในอาหารทะเลสูงกว่าค่าพื้นฐานที่เคยตรวจพบ แสดงถึงการปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร และยังมีการตรวจพบโลหะหนัก เช่น สังกะสี แมงกานีส สารหนู ตกค้างในตะกอน สัตว์ทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคได้ ดังนั้น หากมีการเก็บกู้ได้เร็วและดำเนินการถูกวิธี ก็จะลดผลกระทบดังกล่าวได้

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สธ.ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ระยอง สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ร่วมประเมินผลกระทบและวางแผนการดำเนินการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนในพื้นที่ทั้งระยะเร่งด่วนและในระยะยาว โดยระยะเร่งด่วน สธ.ได้จัดจุดตั้งรับที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เกาะเสม็ด เบื้องต้นได้รับรายงานมีผู้ป่วยเป็นชาวบ้านอ่าวพร้าวมารับบริการจำนวน 4 ราย มีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หากประเมินแล้วพบว่ามีผลกระทบวงกว้าง ก็อาจพิจารณาจัดเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนให้ทั่วถึง ส่วนระยะยาวได้สั่งการให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.ชลบุรี เฝ้าระวังการปนเปื้อนอาหารทะเล โดยเก็บตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อดูการปนเปื้อนสารโลหะหนัก รวมทั้งตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชน

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสสารปนเปื้อนและอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ คือ 1.กลุ่มเจ้าหน้าที่กู้ภัย โดยอาจสัมผัสโดยตรงทั้งทางการหายใจและทางผิวหนัง กลุ่มนี้ควรป้องกันตนเอง โดยสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ได้แก่ หน้ากากอนามัยป้องกันการสูดกลิ่นเข้าสู่ระบบหายใจ สวมชุดป้องกันที่เหมาะสม เพื่อลดการรับสัมผัสกับสารเคมี 2.กลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ขอให้หลีกเลี่ยงเข้าไปในบริเวณที่ปนเปื้อน หากมีคราบเปื้อนที่ผิวหนัง ควรล้างทำความสะอาด รวมถึงให้ดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้เข้าใกล้บริเวณที่ปนเปื้อนน้ำมันด้วย และ 3.กลุ่มประชาชนผู้บริโภคทั่วไป จะมีความเสี่ยงในเรื่องการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อน

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลุ่มประชาชนที่ต้องระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ มี 4 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากจะได้รับผลกระทบได้ง่ายและเร็วกว่ากลุ่มอื่น ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณชายหาดที่มีคราบน้ำมัน ควรอยู่ห่างประมาณ 500 เมตรและอยู่เหนือลม โดยเบื้องต้น คร.ได้จัดส่งหน้ากากอนามัยจำนวน 20,000 ชิ้น แจกประชาชนในพื้นที่แล้ว

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า ผลกระทบของน้ำมันดิบที่รั่วไหล จะมีผลทั้งต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบผิวหนัง หากประชาชนมีอาการผิดปกติ หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจหอบ วิงเวียนศีรษะ ระคายเคืองตา แสบตา คลื่นไส้อาเจียน ขอให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที สำหรับการเฝ้าระวังผลกระทบจะมีการสำรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่เพื่อติดตามผลอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น