xs
xsm
sm
md
lg

ยี้! “บุหรี่” ทำสาวแก่ก่อนวัย ปากคล้ำ แถมมะเร็งปากมดลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากคุณคิดว่าการสูบบุหรี่นั้นจะเกิดและส่งผลส่วนใหญ่แก่เพศชาย ขอบอกให้ทราบว่าคุณคิดผิด! เพราะจากการศึกษาและวิจัยพบว่า ผู้หญิงกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากพิษภัยของบุหรี่ และส่งผลร้ายอย่างคาดไม่ถึง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดโรคร้ายแรงต่างๆ มากขึ้น และอาจเสียชีวิตในวัยกลางคนถึง 50% โดยอายุเฉลี่ยจะสั้นลงประมาณ 10 ปี และมีโอกาสเกิดมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจวาย เส้นเลือดในสมองตีบมากกว่าคนปกติอย่างมาก โดยอาการเหล่านี้จะมีมากขึ้นในผู้หญิงที่สูบบุหรี่และรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษที่ทำปฏิกิริยากับยาคุมกำเนิด มีผลให้เลือดแข็งตัวง่ายขึ้น และเกิดการอุดตันของหลอดเลือดง่ายขึ้น โดยเฉพาะเส้นเลือดที่จะไปเลี้ยงหัวใจและสมอง

นอกจากนี้ การสูบบุหรี่จะทำให้ผู้หญิงแก่ก่อนวัย มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและใบหน้า โดยมีรอยย่นมากขึ้น ริมฝีปากคล้ำ มีปัญหาเกี่ยวกับโรคในช่องปาก มีโอกาสเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง มีผลให้เกิดการติดเชื้อไวรัสแปบปิวโลมาได้ง่าย ซึ่งปากมดลูกที่ติดเชื้อไวรัสนี้อาจกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมลดลง

มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เพิ่มขึ้น เพราะนิโคตินไปทำลายกล้ามเนื้อที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้น เมื่อสูบบุหรี่เข้าไปจะทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนตัวลง ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ รวมถึงจะมีโอกาสตั้งครรภ์ช้าหรือไม่มีบุตรมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 3 เท่า

อย่างไรก็ตาม นอกจากผลกระทบต่อตัวผู้สูบแล้ว ควันบุหรี่ยังมีผลกระทบรุนแรงต่อทารกในครรภ์ พบว่า จะมีโอกาสแท้งบุตร เกิดภาวะรกเกาะต่ำ คลอดก่อนกำหนด เด็กในครรภ์มีการเติบโตช้า และทารกมีโอกาสเสียชีวิตในขณะแรกคลอดสูงขึ้น ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการได้รับสารพิษจากบุหรี่ที่ถ่ายทอดจากกระแสเลือดของแม่ผ่านทางรกมายังทารกโดยตรง

ภายหลังจากคลอดแล้ว ทารกที่ได้รับควันบุหรี่ขณะอยู่ในครรภ์ อาจจะพบความพิการของหูส่วนกลาง ซึ่งส่งผลให้เด็กปากแหว่ง เพดานโหว่มีน้ำหนวกตามมา และส่งผลไปถึงการได้ยินที่ผิดปกติได้ ทั้งนี้ จะมีโอกาสเกิดภาวะเสียชีวิตเฉียบพลันได้มากขึ้นในช่วงปีแรกของชีวิต และมีโอกาสเพิ่มขึ้นถ้าเด็กยังได้รับควันบุหรี่จากสิ่งแวดล้อมหลังคลอด สำหรับในแม่ที่ให้นมบุตรพบว่า นิโคตินที่แม่ได้รับจากควันบุหรี่จะขับออกทางน้ำนมได้ และทำให้เด็กได้รับนิโคตินจากนมแม่ด้วย

ในเด็กหลังคลอดที่ได้รับควันบุหรี่มือสองอย่างต่อเนื่อง จะพบว่า จะมีโอกาสเกิดภาวะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคหอบหืดและโรคภูมิแพ้มากขึ้นอย่างชัดเจน และพบภาวะติดเชื้อในหูบ่อยขึ้นด้วย

หากคุณเป็นผู้หญิงที่ฉลาด และอยากมีสุขภาพที่ดีอย่างยืนยาวมากขึ้น ทีมข่าวคุณภาพชีวิต ASTVผู้จัดการออนไลน์ ขอยกคำขวัญเพื่อการรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2553 จากองค์การอนามัยโลกมาให้กำลังใจว่า “หญิงไทยฉลาด ไม่เป็นทาสตลาดบุหรี่ (Gender and Tobacco with an emphasis on marketing to WOMAN)”

ขอบคุณข้อมูลจากคู่มือ “บุหรี่ภัยร้ายทำลายคุณ” โดยหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ โรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนา สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


กำลังโหลดความคิดเห็น