กรมการแพทย์เร่งเตือนหญิงไทยตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ยันรักษาหายได้ 82-90% หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรก แนะออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก หากมีลูกควรให้ลูกดื่มนมจากเต้า ช่วยลดเสี่ยงเกิดมะเร็งได้
วันนี้ (11 ต.ค.) ที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ กรุงเทพมหานคร นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรมต้านภัยมะเร็งเต้านม ว่า เดือน ต.ค.ของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์เตือนภัยโรคมะเร็งเต้านม เพื่อให้ผู้หญิงหันมาดูแลใส่ใจทรวงอกของตนเอง สำหรับประเทศไทย มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง ส่วนใหญ่พบในหญิงอายุ 40-45 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงขึ้นอยู่กับความผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) ที่มากเกินไปไม่สมดุล การรับประทานฮอร์โมนมากเกินไป การรับประทานยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุน้อย การที่มีประจำเดือนอายุน้อยกว่า 12 ปี และหมดหลังอายุ 50 ปี และยังพบภาวะเสี่ยงจากพันธุกรรม
นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า เพื่อลดความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิต กรมการแพทย์จึงสนับสนุนการตรวจค้นหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก รวมทั้งเฝ้าระวังโดยให้อาสาสมัครและแกนนำรณรงค์สอนให้ผู้หญิงเรียนรู้การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ทั้งนี้ การจัดงานมหกรรมต้านภัยมะเร็งเต้านมของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สนับสนุนนโยบายของ สธ.ในการป้องกันโรคมะเร็ง ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ถึงร้อยละ 80-90 หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
“ผู้หญิงทุกคนควรหมั่นตรวจเต้านม โดยเริ่มจากการตรวจคลำด้วยตัวเองเบื้องต้น ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยสาว และถ้าจะให้ดีกว่านั้นควรตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ เพื่อดูให้ชัดเจนว่ามีเนื้องอกที่จะเสี่ยงเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40-45 ปีขึ้นไป ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งเต้านมสามารถทำได้โดยการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรทำอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 1 ครั้ง และช่วงที่เหมาะกับการตรวจ คือ ช่วงวันที่ 7-10 โดยนับจากวันที่มีประจำเดือนวันแรก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน ลดอาหารจำพวกเนื้อสัตว์หรือไขมัน รับประทานผักผลไม้ งดบุหรี่และแอลกอฮอล์ หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ควรให้บุตรดื่มนมเพราะช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว