xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไว้! มะเร็งเต้านม “ระยะลุกลาม” รักษาได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย... นพ.อาคม เชียรศิลป์
ที่ปรึกษาชมรม Thai Breast Friends แห่งประเทศไทย
ผลงาน รางวัล Eminent Scientist of the Year 2007 ASIA สาขาการศึกษาและวิจัยทางคลินิก ด้านมะเร็งวิทยา

“มะเร็งเต้านมระยะแรก มีโอกาสหาย (ขาด) ได้” คำขวัญชูโรงในช่วงเดือน ต.ค. ซึ่งถือเป็นเดือนแห่งการรณรงค์มะเร็งเต้านม (Breast Cancer Awareness Month) ที่ไม่ว่าจะมีแคมเปญอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา ก็เห็นจะไม่พ้นการตรวจหามะเร็งตั้งแต่ระยะแรก และการดูแลสุขภาพของเต้านมด้วยตนเอง

แต่ในฐานะแพทย์ที่รักษาดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มีข้อสังเกตว่า มะเร็งเต้านมระยะลุกลาม หรือเซลล์มะเร็งที่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ แล้วนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็มีโอกาสหายได้เช่นกัน หากแพทย์สามารถผ่าตัดเอามะเร็งที่กระจายออกหมด เพียงแต่กระบวนการรักษาจะมีความซับซ้อนกว่า และใช้เวลานานกว่าเท่านั้นเอง

เหตุผลที่ต้องให้ความสำคัญกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะลุกลาม ก็เพราะว่าจากข้อมูลทางวิชาการ ร้อยละ 30 ของมะเร็งเต้านมระยะแรก มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม แต่ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม มีความก้าวหน้าขึ้นมากจนนึกไม่ถึง ผู้ป่วยมะเร็งลุกลาม มีโอกาสหายได้ หรือควบคุมโรคได้หลายครั้ง ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ เป็นผลทำให้บนโลกใบนี้ มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต

การรณรงค์เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม จึงเห็นว่า ควรจะมีเนื้อหาสาระของมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม รวมอยู่ด้วย จะได้เป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพราะปัจจุบันความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มีมากมาย และลงลึกถึงระดับโมเลกุล (DNA) มีผลทำให้การรักษาโรคมะเร็ง พัฒนาไปไกลมาก เช่น เราสามารถจัดผู้ป่วยมะเร็งเต้านมออกเป็นกลุ่มตามลักษณะการแสดงของยีน (DNA) ว่าแต่ละกลุ่มควรจะรักษาอย่างไร เป็นการแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) คือผู้ป่วยมะเร็งแต่ละคนจะมีแผนการรักษาเฉพาะตนเอง อาจใช้ยาเคมีบำบัดหรือไม่ใช้ก็ได้ มีทางเลือกมากมาย

แม้แต่ผู้ป่วยมะเร็งที่โรคกลับมาเป็นซ้ำ ครั้งที่ 1, 2 หรือ 3 อาจมีการแสดงออกของยีนแตกต่างไปจากโรคมะเร็งเต้านมต้นกำเนิด ซึ่งแผนการรักษาอาจเปลี่ยนไป ที่สำคัญการพัฒนาการรักษาและยา เพื่อเอาชนะการดื้อยาของเซลล์มะเร็ง อาจออกมาในรูปของยาขนานใหม่ หรือนำยาเดิมมาใช้ร่วมกับสูตรยาขนานใหม่ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ในกลุ่มที่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก (ER+) แม้ว่าจะมีการกระจายของโรคไปที่อวัยวะอื่นๆ แล้ว แต่ผู้ป่วยยังอยู่ในสภาพร่างกายที่ดี ก็สามารถรักษาได้ โดยหลีกเลี่ยงการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ที่ประชาชนหรือแม้แต่แพทย์บางท่าน ยังมีความกลัวอยู่เป็นนิรันดร์

ดังนั้น จะเห็นว่าทุกอย่างบนโลกใบนี้ มีการเปลี่ยนแปลงทั้งดีและไม่ดี จะว่าไปแล้ว วงการแพทย์ทุกสาขาโดยเฉพาะมะเร็ง มีแต่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นตลอดเวลา ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีชีวิตที่ยืนยาวได้ (Cancer Survival)

ฤดูร้อนปี ค.ศ. 2009 ในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม 9 คน ได้รวมพลังกันขอเข้าพบกับสมาชิกรัฐสภา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ให้เข้าใจเรื่องราวชีวิต มุมต่างๆ ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม และผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในยุคปัจจุบัน ในที่สุด คณะรัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม และการเข้าถึงการรักษา เพื่อให้ประชาชนทราบความจริง พร้อมทั้งประกาศให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ต่อต้านและช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Metastatic Breast Cancer Awareness Day)

ดังนั้น เพียง 1 วันในเดือนตุลาคม ควรจะเป็นวันที่พวกเราทุกคน ทุกฝ่าย ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน จงร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกระจายความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม การรักษาที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ได้รับการรักษาแบบเฉพาะบุคคล รวมทั้งชี้แนะให้เห็นความสำคัญของการติดตามผลการรักษาของแพทย์ที่ดูแลได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ร่วมกับการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เฝ้าระวังการกลับมาของโรค เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้อยู่กับโรคมะเร็งได้อย่างปกติสุข และแสดงให้เห็นว่ามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ไม่ใช่ระยะสุดท้ายของชีวิตอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น