องค์การอนามัยโลกคาดอีก 17 ปีข้างหน้า คนอาเซียนจะป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่-เต้านมมากขึ้น สถาบันมะเร็งฯเตรียมเริ่มคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ปี 2557 พร้อมเล็งนำเทคโนโลยีเฮฟวีไอออน ฉายแสงรักษามะเร็งจากญี่ปุ่นมาใช้
วันนี้ (30 ส.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุม National Cancer Forum 2013 ว่า การประชุมนี้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี สถาบันมะเร็งฯ โดยจะมีการนำเสนอความก้าวหน้าวิธีการรักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็ง โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ 11 คน มาบรรยายให้ความรู้ ซึ่งทางประเทศญี่ปุ่นจะมีการนำเสนอเทคโนโลยีการฉายแสงแบบเฮฟวี ไอออน ในการรักษามะเร็ง ซึ่งจะเป็นการนำไอออนประจุหนักมาใช้ในการฉายแสงรักษามะเร็ง โดยสามารถกำหนดจุดในการฉายแสงได้เฉพาะจุดอย่างแม่นยำกว่าการฉายแสงด้วยวิธีอื่นๆ
“เทคโนโลยีนี้ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้คิดค้นได้ประเทศแรกในโลก และในภูมิภาคอาเซียนยังไม่มีประเทศใดนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ โดยเบื้องต้นทางสถาบันมะเร็งฯได้มีการหารือกับวิทยากรจากญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งทางญี่ปุ่นยินดีที่จะให้ความร่วมมือนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้ในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าวจะมีการนำเสนอวิธีการนำสมุนไพรมาใช้ร่วมรักษาอาการของผู้ป่วยมะเร็ง” ผอ.สถาบันมะเร็งฯ กล่าว
นพ.ธีรวุฒิ กล่าวอีกว่า ผู้แทนจากองค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดการณ์สถานการณ์โรคมะเร็งที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนว่าในอีก 17 ปีข้างหน้าหรือปี 2573 ในภูมิภาคอาเซียนจะมีผู้มะเร็งรายใหม่เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 30 โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป เช่น ไม่ค่อยออกกำลังกาย รับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันสูง เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้้ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งลำไส้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามมะเร็งลำไส้สามารถป้องกันได้้ หากมีการตรวจคัดกรอง ดังนั้นทางสถาบันมะเร็งฯ จึงเตรียมที่จะเริ่มโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ หลังจากที่เริ่มโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมมาแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในปี 2557