xs
xsm
sm
md
lg

11 อาหารบำรุงหัวใจ/ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทุกๆ วันที่ 29 กันยายนของทุกปีจะเป็นวันหัวใจโลก ซึ่งในปีนี้มีประเด็นในเรื่องของ “Take the road to a healthy heart” ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดวันรณรงค์หัวใจโลก ให้สอดคล้องกับสากลเป็นวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี สาหรับปีนี้ (2556) ใช้ประเด็นรณรงค์หัวใจโลก คือ “เลือกแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อหัวใจที่แข็งแรง” โดยเน้นกลุ่มผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากหากเด็กมีสุขภาพดีแล้วก็จะทำให้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีสุขภาพแข็งแรงเป็นตัวอย่างให้กับครอบครัวและสังคมต่อไป

อาหารเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้หัวใจมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง จากหลายงานวิจัยได้ศึกษาการบริโภคอาหารประเภทต่างๆ และผลที่ดีต่อหัวใจ ตัวอย่างอาหารที่ดีต่อหัวใจเช่น

กระเทียม - จากหลายการศึกษาที่ให้ผลตรงกันถึงคุณสมบัติของกระเทียมต่อการทำความสะอาดร่างกาย โดยการที่กินกระเทียมเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ขับและฆ่าพยาธิในทางเดินอาหาร และฆ่าเชื้อไวรัสให้ออกจากร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำความสะอาดเลือดและระบบลำไส้ สารในกระเทียมทำให้เส้นเลือดมีความยืดหยุ่นและลดแรงดันโลหิตนอกเหนือจากนี้กระเทียมยังต่อต้านการเกิดมะเร็งและทำให้ระบบทางเดินหายใจดีขึ้นแต่ก็ควรระวังเรื่องการทานกระเทียมมากเกินไปก็ก่อให้เกิดลมหายในที่มีกลิ่นกระเทียมไปด้วย

มะเขือพวง - ผักที่เต็มไปด้วยไฟเบอร์ซึ่งสามารถช่วยดูดซึมไขมันในอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยจับไขมันอิ่มตัว (ไขมันอันตราย) และช่วยขับออกจากร่างกาย โดยระบบขับถ่าย มะเขือพวงยังมีวิตามินซี สูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงด้วย จึงช่วยกำจัดของเสียออกจากระบบทางเดินอาหารได้เร็วขึ้นและช่วยลดการสะสมของของเสียในร่างกาย การศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าใยอาหารในมะเขือพวงทำให้ลำไส้ดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง จึงเป็นการช่วยไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเร็วเกินไป ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้

พืชตระกูลถั่ว (เช่น ถั่วแดง, ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง และถั่วขาว) - จากการศึกษาพบว่าผู้ที่ทานถั่วเป็นประจำจะมีระดับของโคเลสเตอรอลน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ทาน และลดอัตราการเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจด้วย พืชตระกูลถั่วพวกนี้ประกอบไปด้วยไฟเบอร์สูงซึ่งช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล ทำความสะอาดลำไส้ ลดการสะสมของสารพิษในลำไส้ และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ พืชตระกูลถั่วนี้ยังช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ และ มะเร็งต่อมลูกหมากด้วย

เมล็ดเฟล็ก (Flax Seed) - ประกอบไปด้วยกรดไขมันที่จำเป็น โอเมก้า 3 และสารตัวอื่นที่ดีต่อระบบภูมิต้านทานโรคของร่างกายช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงขึ้น สารโอเมก้า 3 นั้นยังมีประโยชน์ต่อสมอง ช่วยบำรุงความจำและก็ยังดีต่อหัวใจเนื่องจากช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล

หัวหอม - หัวหอมประกอบไปด้วยสารต่อต้านมะเร็งหลายชนิด และมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (Saponin) สูง หัวหอมช่วยทำความสะอาดเลือด, ช่วยลดระดับของแอลดีแอล โคเลสเตอรอลซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลตัวที่ไม่ดีเป็นตัวที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ นอกจากนี้หัวหอมยังช่วยทำให้ระบบทางเดินหายใจมีสุขภาพที่ดีขึ้น ช่วยรักษาโรคหอบ, โรคทางเดินหายใจ, ภูมิแพ้ และที่สำคัญ คือ ช่วยรักษาเบาหวานให้ระดับน้ำตาลคงที่

ปลาแซลมอน - งานวิจัยพบว่าผู้ที่รับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีอยู่ในปลาทะเล/อาหารทะเลเป็นประจำ สารโอเมก้า-3 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองและหัวใจทำให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สารโอเมก้า-3ยังช่วยลดการเกิดการอักเสบในร่างกาย

ถั่วเหลือง - เป็นโปรตีนที่ได้มาจากพืชซึ่งจะไม่มีโคเลสเตอรอลและมีไขมันที่น้อยกว่าโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์ ในการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นพบว่าผู้หญิงในวัย 30-40 ปี ที่รับประทานถั่วเหลืองซึ่งมีสาร Isoflavone เป็นประจำจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับประทานถั่วเหลือง ถั่วเหลืองนอกจากประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือดแล้วยังมีส่วนช่วยต่อการช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ เบาหวาน และ มะเร็งเต้านมในบางการศึกษา

ชาเขียว - ประกอบด้วยสารฟลาโวนอยด์ (Flavonols) หรือ คาทาชิน (Catechins) ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ชนชาติที่มีการดื่มชามายาวนานนั้นมักพบว่าประชากรจะมีอายุโดยเฉลี่ยยืนยาวกว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มของชนชาติที่ไม่นิยมดื่มชา มีผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือระบุว่าชาเขียวช่วยในการลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนัก ลดระดับโคเลสเตอรอลและควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด ทั้งยังมีการศึกษาทางสถิติแนะนำอีกด้วยว่าชาเขียวน่าที่จะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจโดยเฉพาะหัวใจวายและเส้นหลอดเลือดสมองแตก

ถั่วอัลมอนด์ - เป็นถั่วประเภทถั่วเปลือกแข็งซึ่งให้คุณค่าสารอาหารต่อร่างกายแตกต่างจากถั่วประเภทคลุมดินอย่างถั่วเหลือง ถั่วเขียว ฯลฯ และอัลมอนด์ยังถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะคุณประโยชน์ของอัลมอนด์มีมากมาย ในเมล็ดอัลมอนด์อุดมไปด้วยกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated Fatty Acid) และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fatty Acid) ซึ่งช่วยเพิ่มระดับแอชดีแอล (High-Density Lipoproteins) หรือไขมันดี และช่วยลดระดับแอลดีแอล (Low-Density Lipoproteins) หรือไขมันตัวที่ไม่ดี สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่าการรับประทานถั่วอัลมอนเพียง 1 กำมือต่อวันทุกวันจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การบริโภคอัลมอนด์เป็นประจำยังช่วยในการเพิ่มระดับของวิตามินอี ซึ่งเป็นตัวต่อต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อผิวพรรณที่สุดตัวหนึ่ง วิตามินอีนี้จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีผิวแห้งจะทำให้ผิวหายแห้งและหายจากการคัน และอีกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของอัลมอนด์ที่คือสามารถช่วยในการควบคุมน้ำหนัก แม้ว่าอัลมอนด์จะให้พลังงานสูงแต่ผู้ที่รับประทานอัลมอนเป็นประจำจะช่วยควบคุมไม่ให้มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์ปกติ เนื่องมาจากว่าอัลมอนด์มีไฟเบอร์สูงและมีไขมันที่ดี โดยจากการศึกษาในผู้หญิงกว่า 50,000 คน พบผู้ที่บริโภคอัลมอนด์เป็นประจำมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติมากกว่าผู้ที่ไม่นิยมบริโภคอัลมอนด์

แอปเปิล - ประกอบไปด้วยเพกตินสูง ซึ่งเป็นไฟเบอร์ชนิดหนึ่งที่จะช่วยจับกับโคเลสเตอรอลและพวกโลหะหนักในร่างกายซึ่งมักจะปะปนมากับอาหาร เช่น ปรอท, ตะกั่วซึ่งก็มีผลร้ายในร่างกาย และทำลายเซลล์สมอง นอกจากนี้แล้วคุณประโยชน์ของแอปเปิ้ลยังช่วยต่อต้านการเกิดมะเร็ง, ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อไวรัส และจากการศึกษาก็ยังพบอีกว่าแอปเปิ้ลช่วยขับของเสียซึ่งมากับส่วนประกอบในอาหารซึ่งเป็นสารเคมีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการแพ้ในเด็ก และทำให้เกิดไมเกรนในผู้ใหญ่

อะโวคาโด (avocado) - สารที่มีอยู่ในอะโวคาโด สามารถช่วยลดโคเลสเตอรอลและป้องกันหลอดเลือดไม่ให้เกิดการอุดตันทำให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นเนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวพันธะเดี่ยวอยู่สูง และสารสำคัญอีกตัวที่มีอยู่ในอะโวคาโดชื่อว่า กลูทาไทโอน (Glutathione) ซึ่งสามารถช่วยจับกับสารพิษที่เป็นตัวก่อให้เกิดมะเร็งกว่า 30 ชนิด และขณะเดียวกันก็ช่วยตับขจัดของเสียจำพวกสารเคมี และโลหะหนัก นักวิจัยจาก University of Michigan พบว่า ในผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารที่มีสาร กลูทาไทโอน สูง จะมีสุขภาพที่ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้ทานและมีอัตราการเกิดโรคหัวใจที่น้อยกว่า อย่างน้อย 30%


กำลังโหลดความคิดเห็น