xs
xsm
sm
md
lg

รู้เท่าทันโรคสมองเสื่อม (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.พญ.กอบหทัย สิทธิรณฤทธิ์
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น หลายท่านมักพบว่าตนเองมีความคิดอ่านช้าลง ใช้เวลาในการตัดสินใจนานขึ้น หลงลืมง่ายขึ้น จนอาจเกิดความกังวลว่าตนเองมีอาการหลงลืมตามวัยที่เพิ่มขึ้นหรือว่าได้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมแล้ว

โรคสมองเสื่อม เป็นภาวะที่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองเสื่อมลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ โดยเฉพาะด้านความจำเป็นหลัก ร่วมกับสูญเสียความสามารถด้านอื่นๆ ของสมองด้วย เช่น ความสามารถในการเรียนรู้ การใช้เหตุผล การควบคุมอารมณ์ การตัดสินใจ ฯลฯ และอาจพบการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพในผู้ป่วยสมองเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งอาการเหล่านี้มักส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ โดยในขณะที่เกิดภาวะสมองเสื่อมนี้ ผู้ป่วยจะยังมีสติและรู้สึกตัวดีอยู่

โรคสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากพยาธิสภาพของร่างกาย เช่น เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ผู้ที่มีแนวโน้มจะเกิดสมองเสื่อมจากสาเหตุนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง สูบบุหรี่จัด ซึ่งอาจทำให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดสมองลดลง เกิดการแข็งตัวของหลอดเลือดสมอง และส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ นอกจากนี้สมองเสื่อมยังอาจเกิดได้จากการมีเนื้องอกในสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว ภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ • การติดเชื้อในสมอง ซึ่งเชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้อ HIV และเชื้อวัณโรค การขาดวิตามินบางชนิด เช่น วิตามิน B1 (ในผู้ดื่มสุราจัด) B12 (ในผู้ที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก) และกรดโฟลิก ภาวะเลือดออกในสมอง ภาวะสมองขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการชัก หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นเวลานาน การได้รับสารพิษบางชนิดมากเกินไป หรือไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนซึ่งก็คือกลุ่มผู้ป่วยอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ นั่นเอง

ปัจจุบันพบผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมประมาณร้อยละ 5 ในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และพบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20-40 ในผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป

อาการของโรคสมองเสื่อมนั้น แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ผู้ป่วยมักจะมีปัญหาด้านความจำ หลงลืมง่าย โดยจะสูญเสียความทรงจำระยะสั้นๆ ก่อน เช่น เมื่อเช้ากินอะไร วางแว่นตาไว้ที่ไหน ต่อมาก็จะเริ่มสูญเสียความทรงจำระยะยาวขึ้น เช่น จำวัน เวลาไม่ได้ หรือสับสนจำวันผิด อาจมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น ซึมเศร้า หงุดหงิดง่ายขึ้น ควบคุมอารมณ์ลำบากขึ้น ไม่สามารถทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อนได้ แต่ยังสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ ระยะกลาง ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการดูแลสุขอนามัยตนเอง เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน ควบคุมการขับถ่าย การแต่งตัว การรับประทานอาหาร จะต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้ดูแลในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เป็นบางส่วน

ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะสูญเสียความจำระยะยาว เช่น จำเหตุการณ์สมัยยังเด็กไม่ได้ จำญาติใกล้ชิดไม่ได้ จำชื่อตนเองไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการทรงตัว การยืน การเดิน และบางรายอาจมีพฤติกรรมเดินไปเดินมาไร้จุดหมาย หรือหลงออกนอกบ้านแล้วจำทางกลับบ้านไม่ได้ ระยะนี้ผู้ป่วยจะต้องพึ่งพาผู้ดูแลในทุก ๆ ด้านของชีวิต อย่างไรก็ตาม แต่ละช่วงระยะเวลาอาจใช้เวลาไม่เท่ากันในผู้ป่วยแต่ละราย และอาการในแต่ระยะอาจมีความคาบเกี่ยวกันได้

โปรดติดตามแบบคัดกรองผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์จากญาติหรือผู้ดูแลในครั้งหน้า

                                                          พบกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช


ร่วมงาน 20 ปี เวชศาสตร์ฟื้นฟู

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญร่วมงาน “ครบ 20 ปี เวชศาสตร์ฟื้นฟูศิริราช” รับความรู้ในการดูแลสุขภาพ ชมบูธฟื้นฟูร่างกายจิตใจ และร่วมประมูลสินค้าคนพิการทำเอง ฯลฯ วันที่ 9-13 กันยายนนี้ เวลา 10.30- 14.30 น.ณ โถงอาคาร 100 ปีสมเด็จพระศรีนครินทร์ โรงพยาบาลศิริราช โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถาม โทร.0 2419 8627-8


กำลังโหลดความคิดเห็น