xs
xsm
sm
md
lg

แนะวิธีปรับพฤติกรรมห่างไกลโรคหัวใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรคเผยปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 23.3 ล้านคนทั่วโลก ยันป้องกันได้ ถึงร้อยละ 80 แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวัน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (28 ก.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งทั่วโลกในปี 2551 มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว 17.3 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าในปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 23.3 ล้านคน และยังคงเป็นสาเหตุนำของการตาย ทั้งๆที่โรคนี้สามารถป้องกันได้มากถึงร้อยละ 80 โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) และโรคหลอดเลือดสมอง มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันและมักมีสาเหตุหลักมาจากที่หลอดเลือดเกิดการอุดตันจากการสะสมของไขมันบนผนังหลอดเลือดด้านใน ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจและสมองลดลง เกิดอาการหัวใจขาดเลือด หรือสมองขาดเลือดไปเลี้ยง สำหรับโรคหลอดเลือดสมองนอกจากมีสาเหตุมาจากการอุดตันแล้ว อาจมีสาเหตุจากหลอดเลือดในสมองแตก การป้องกันโรคนี้ต้องกำจัดปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่ การสูบบุหรี่ บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พฤติกรรมการรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม กินผัก ผลไม้น้อย ขาดกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย ความเครียด ภาวะอ้วน คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และต้องปฏิบัติตัว ดังนี้

1. มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย 30 นาที 5 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เช่น กิจกรรมเล่นกลางแจ้ง ทำงานบ้าน เดินขึ้น - ลงบันได ออกกำลังกาย 2. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสมดุล เช่น การรับประทานผัก / ผลไม้ ให้มากกว่าเนื้อสัตว์และแป้ง จำกัดขนมหวาน จำกัดเกลือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา ไม่รับประทานอาหารเกินความต้องการของร่างกาย 3. งดบุหรี่ / เหล้า 4. ตรวจสุขภาพ ได้แก่ วัดความดันโลหิต ตรวจโคเลสเตอรอล ระดับน้ำตาลในเลือด วัดน้ำหนักตัวและค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เพื่อรู้ค่าความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และหาทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อลดโรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า เคล็ดลับในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดสำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารก มีดังนี้ 1. เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์ 2. ควรฝากครรภ์ตั้งแต่เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 3. เมื่อตั้งครรภ์ควรดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เช่น การกิน อาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกาย งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่หรือเลี่ยงควันบุหรี่ 4. ระวังเรื่องการใช้ยา ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ 5. หลีกเลี่ยงการฉายรังสี และแจ้งให้แพทย์ทราบว่าตั้งครรภ์ 6. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง( 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ) เช่น ตับ เนื้อแดง อาหารวิตามินซีสูง เช่น ฝรั่ง ส้ม มะละกอ และอาหารแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต ปลาเล็กปลาน้อย ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักหลากสีและผลไม้หวานน้อย 7. ออกกำลังกายครั้งละน้อยๆช้าๆ หลังครรภ์มีอายุ 3 เดือน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

"วันที่ 29 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันรณรงค์หัวใจโลก สำหรับปีนี้ สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) กำหนด ประเด็นสารว่า “Take the road to a healthy heart” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ใช้ประเด็นสาร ว่า "เลือกแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อหัวใจที่แข็งแรง" โดยเน้นไปยังกลุ่มผู้หญิงและเด็ก ตั้งแต่ทารกช่วงที่มีพัฒนาการอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่ง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ได้มอบนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวไว้ชัดเจนว่า ใน 10 ปีข้างหน้านี้คนไทยทุกคนต้องมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น โรคไม่ติดต่อซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้ต้องลดลง เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น