xs
xsm
sm
md
lg

พบยารักษาอาการชัก 2 ตัว ต้นเหตุการแพ้ยารุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบยารักษาอาการชัก “คาร์บามาเซปีน-อ็อกซ์คาบาเซปีน” ต้นเหตุการแพ้ยารุนแรง ระบุผิวหนังอาจอักเสบรุนแรง เป็นแผลพุพอง เยื่อบุต่างๆ หลุดลอก เสี่ยงพิการและเสียชีวิต สธ.เร่งสถานพยาบาลตรวจสารพันธุกรรมชนิด HLA-B*15:02 allele ดูความจำเป็นการใช้ยา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
รศ.คลินิก พญ.วารุณี จินารัตน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการนำร่อง “การป้องกันผื่นแพ้ยารุนแรงชนิด Steven-Johnson syndrome (SJS) และ Toxic epidermal necrolysis (TEN) จากยา Carbamazepine และ Oxcarbazepine ด้วยการประเมินความเสี่ยงทางพันธุกรรมชนิด HLA-B*15:02” ว่า อาการผื่นแพ้ยาเป็นกลุ่มอาการที่มีภาวะไข้และออกผื่น ซึ่งเกิดผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะภายใน โดยทั่วไปจะเกิดหลังจากได้รับยามาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ส่วนอาการผื่นแพ้ยาแบบรุนแรงนั้นจะรวมถึงกลุ่ม SJS และ TEN ซึ่งทำให้ผิวหนังมีอาการอักเสบรุนแรง เป็นแผลพุพองเหมือนโดนไฟไหม้ และมีอาการหลุดลอกของผิวหนัง และเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุในช่องปาก ริมฝีปาก เยื่อบุทางเดินอาหารและเยื่อบุตา ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสพิการและเสียชีวิตได้

รศ.คลินิก พญ.วารุณี กล่าวอีกว่า ยา Carbamazepine (คาร์บามาเซปีน) และ Oxcarbazepine (อ็อกซ์คาบาเซปีน) เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาอาการชักและเป็นต้นเหตุของการแพ้ยารุนแรงชนิด SJS และ TEN ที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย จึงมีความจำเป็นสำหรับผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่จะจัดให้มีมาตรการป้องกันการแพ้ยา โดยตรวจหาสารพันธุกรรมชนิด HLA-B*15:02 allele (เอชแอลเอบีหนึ่งห้าศูนย์สองอัลลีล) ให้แก่ผู้ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้ยา Carbamazepine และ Oxcarbazepine ก่อนที่จะเริ่มรับประทานยาหรือเริ่มยามาไม่เกิน 3 เดือน

การตรวจหาสารพันธุกรรมดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดทำโครงการนำร่องเพื่อป้องกันผื่นแพ้ยารุนแรงชนิด SJS และTEN จากยา Carbamazepine และ Oxcarbazepine ด้วยการประเมินความเสี่ยงทางพันธุกรรมชนิด HLA-B*15:02 ซึ่งมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการ 4 แห่งในเขตกรุงเทพมหานครที่ให้บริการตรวจ ได้แก่ 1.กลุ่มพันธุศาสตร์การแพทย์ ศูนย์ชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2.ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี 3.ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ 4.หน่วยอณูพันธุศาสตร์ สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว

รศ.คลินิก พญ.วารุณี กล่าวด้วยว่า การจัดโครงการนำร่องนี้ผลประโยชน์แรกที่เห็นได้ชัด คือ ช่วยลดจำนวนผู้แพ้ยารุนแรงชนิด SJS และ TEN จากยา Carbamazepine และOxcarbazepine ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการให้บริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพที่ไม่ต้องการให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงจากการรับบริการทางการแพทย์ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้และเข้าใจเรื่องการป้องกันการแพ้ยาด้วยการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ เป็นการนำเอาองค์ความรู้ใหม่มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีเพียงประเทศไต้หวันเท่านั้นที่มีระบบการตรวจนี้ นอกจากนี้ข้อมูลจำนวนการตรวจต่อปีในเขตกรุงเทพมหานคร จะช่วยให้ประเมินผลกระทบต่องบประมาณที่จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารใน การกำหนดนโยบายในระดับประเทศสำหรับการตรวจสารพันธุกรรม HLA-B*15:02 ในผู้ที่เริ่มยา Carbamazepine และ Oxcarbazepine ต่อไป

นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการศูนย์ชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กล่าวว่า กลุ่มพันธุศาสตร์การแพทย์ ศูนย์ชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ได้เริ่มดำเนินงานทางเภสัชพันธุศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 โดยแบ่งกิจกรรมหลักออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านที่ 1 การพัฒนาวิธีการตรวจพันธุกรรมที่มีข้อมูลแน่ชัดแล้วว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยารุนแรง ซึ่งปัจจุบันมี 3 วิธีการคือ การตรวจสารพันธุกรรมชนิด HLA-B*15:02 อัลลีล HLA-B*58:01 อัลลีล และ HLA-B*57:01 อัลลีล ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการแพ้ยารุนแรงต่อยากันชัก Carbamazepine ยาลดกรดยูริกในเลือด Allopurinol และยา Abacavir ตามลำดับ ด้านที่ 2 คือการวิจัยหาพันธุกรรมเสี่ยงต่อการแพ้ยาที่ยังไม่มีผลรายงานการศึกษาแน่ชัดโดยจัดทำเป็นโครงการเครือข่ายวิจัยร่วมกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ 28 แห่ง

นพ.อาชวินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และผู้เกี่ยวข้องจากโรงพยาบาลเครือข่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่เขต 13 กรุงเทพมหานคร 53 แห่ง ได้รับความรู้ทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์ และเพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการดำเนินโครงการนำร่องฯ ระบบการส่งตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ ระบบสารสนเทศ และการรายงานการตรวจสารพันธุกรรมชนิด HLA-B*15:02 ซึ่งเมื่อการดำเนินโครงการนำร่องฯนี้เสร็จสิ้น นอกจากบุคลากรทางการแพทย์จะมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการแพ้ยารุนแรงด้วยการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์แล้ว ยังทำให้ไทยมีระบบการให้บริการป้องกันการเกิดการแพ้ยาด้วยการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น