xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงานหารือ 10 ประเทศ สร้างมาตรฐานแรงงานอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงแรงงานหารือการกำหนดขอบเขตการประเมินผลการดำเนินการ (AEC Road Map) สร้างมาตรฐานฝีมือแรงงานร่วมกันในอาเซียน ด้านไอแอลโอ เเนะเรียนรู้จากอียู-เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร
ภาพจาก www.vcharkarn.com
วันนี้ (30 ก.ย.) นายนคร ศิลปะอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงเเรงงาน (รง.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมให้คำปรึกษาหารือในการกำหนดขอบเขตการประเมินผลการดำเนินการ (AEC Road Map) การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีต่อการรับรู้มาตรฐานฝีมือแรงงานร่วมกันในอาเซียน ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ว่า เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ประเทศไทย โดยกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในปีนี้เป็นความสนับสนุนขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ที่อยากให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีมาตรฐานฝีมือแรงงงานเดียวกันทั้งหมด โดยทุกประเทศมาหารือกันเพื่อดูเรื่องของมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการเคลื่อนย้ายแรงงานของแต่ละประเทศ รวมทั้งเป็นการนำเสนอรายงานของแต่ละประเทศว่าตอนนี้ได้ดำเนินการในเรื่องอะไรไปแล้วบ้างในด้านมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ของไอแอลโอคอยให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำ ซึ่งไอแอลโอยังรณรงค์ให้ทุกประเทศส่งเสริมในด้านงานที่มีคุณค่า (Decent work) หมายถึงงานที่มีความเหมาะสมทุกอย่าง ทั้งด้านค่าจ้าง สวัสดิการ ความปลอดภัยในการทำงาน รวมไปถึงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาคนของแต่ละประเทศ

ด้าน นางมาเรีย อังเซสธิส อาเรร์ร่า มังกาฮาส รองผู้อำนวยการสำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ไอแอลโอ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ริเริ่มในเรื่องมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยแต่ละประเทศนั้นต่างมีมาตรฐานด้านแรงงานที่แตกต่างกัน ดังนั้นการร่วมพูดคุยในครั้งนี้คือการนำมาตรฐานของทุกประเทศมาปรับเข้าหากันเพื่อหามาตรฐานกลางของอาเซียนที่จะใช้เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งประเทศไทยมีมาตรฐานที่ดีด้านการท่องเที่ยว การบริการ การเกษตร ที่ผ่านมาไทยได้เปิดให้หลายประเทศเข้ามาศึกษาดูงานและมองว่าไทยจะเป็นแนวหน้าของอาเซียนในการแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศต่างๆ ได้

การแลกเปลี่ยนไม่เพียงทางนโยบายเท่านั้น แต่ต้องผ่านการกระทำ ความร่วมมือ รวมถึงแต่ละประเทศต้องลดอุปสรรคระหว่างกันลง แต่ละประเทศต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อเออีซีทั้งนั้น แต่เป็นการปรับตัวคนละด้าน เพราะแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ซึ่งการเปิดเออีซีเป็นเพียงก้าวแรกของการเริ่มต้นเท่านั้น เราต้องเรียนรู้จากสหภาพยุโรป (อียู) ที่ใช้เวลานานแต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จแต่ต้องเตรียมความพร้อมทางด้านบุคคลากร” นางมาเรียกล่าว

นางมาเรีย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันก็มีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศอาเซียนอยู่แล้วทั้งที่ไม่มีการเปิดเออีซี แต่เป็นการเคลื่อนย้ายแบบไม่เป็นระบบ ไม่มีมาตรฐานซึ่งทำให้เกิดปัญหาการกดขี่แรงงาน เกิดขบวนการการค้ามนุษย์ ซึ่งการเปิดเออีซีนั้นเราต้องตั้งระบบในเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกประเทศ และตนมองว่าเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น