xs
xsm
sm
md
lg

ร่างยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ คาดเข้า ครม.กันยายนนี้ ชูไทยศูนย์กลางผลิตโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กพร.ชงร่างยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ คาดเข้าสู่ ครม.กันยายนนี้ ดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์โลก พร้อมรองรับเออีซี ชี้ปี 2563 ตั้งเป้าผลิตให้ได้ 4 ล้านคัน ส่งผลต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนคน
นายนคร  ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
วันนี้ (27 ส.ค.) นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์พ.ศ.2556-2563 ประกอบด้วย 1.พัฒนากำลังแรงงานให้มีสมรรถนะในระดับมาตรฐานสากลโดยการพัฒนาหลักสูตรด้านยานยนต์และชิ้นส่วนให้มีความทันสมัย ยกระดับฝีมือแรงงาน การพัฒนาผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ 2.พัฒนามาตรฐานวิชาชีพ/มาตรฐานฝีมือแรงงานและมาตรฐานสมรรถนะ มีการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ฯให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างและตลาดแรงงาน ระบบรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ 3.พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านแรงงานของตลาดแรงงานและความต้องการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และการพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลความต้องการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและเครือข่ายพัฒนากำลังแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และเครือข่ายอื่นๆ และ 4.จัดตั้งสถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคลากรระดับกลางและสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ กพร.จะเสนอร่างยุทธศาสตร์นี้เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนกันยายนนี้

อธิบดี กพร.กล่าวอีกว่า ร่างยุทธศาสตร์นี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเพื่อรองรับการเป็นตลาดและฐานการผลิตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี พ.ศ.2558 และการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของโลกซึ่งในปี พ.ศ.2555 ไทยมียอดการผลิตยานยนต์ 2.7 ล้านคัน และปี พ.ศ.2563 มีเป้าหมายจะผลิตให้ได้ถึง 4 ล้านคัน และมีความต้องการกำลังแรงงานด้านยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่เพิ่มขึ้นประมาณ 2 แสนคน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในส่วนของ กพร.โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค (สพภ.) และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด (ศพจ.) นั้นปัจจุบันสามารถผลิตกำลังแรงงานด้านยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ป้อนให้แก่ผู้ประกอบการได้ปีละไม่น้อยกว่า 2 พันคน

“กพร.มีโครงการรับเด็กที่จบ ม.3 หรือ ม.6 รวมทั้งผู้ที่จบ ปวช.และ ปวส.ในสาขาต่างๆ เข้ามาฝึกอบรม เช่น ช่างเคาะสี ช่างพ่นสี ช่างปะผุ ช่างไฟฟ้าภายในรถยนต์ ช่างทำเบาะรถยนต์กับ สพภ.หรือ ศพจ.อย่างเช่นที่ สพภ.อุบลราชธานี มีบริษัทรถยนต์มาสนับสนุนด้านอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญมาช่วยอบรม บางบริษัทมาช่วยตั้งศูนย์เลย เช่น ศูนย์เคาะพ่นสีรถยนต์ หรือบางบริษัทรถยนต์ก็รับเด็กเข้าไปฝึกงานที่ศูนย์ฝึกอบรมของบริษัท เมื่อเด็กผ่านการอบรมจาก กพร.หรือที่ศูนย์ฝึกอบรมของบริษัท ทางบริษัทก็จะรับเข้าทำงานและให้เงินเดือนในอัตราที่สูง จึงขอชวนเชิญผู้ประกอบการรถยนต์และเด็กที่จบชั้นมัธยม หรืออาชีวะมาเข้าร่วมโครงการนี้กับ กพร.เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีการเติบโตสูง ทำให้มีความต้องการกำลังแรงงานเป็นจำนวนมาก เมื่อผ่านอบรมแล้วมีงานทำและรายได้ดี” นายนคร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น