“ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” มองการปรับโครงสร้าง และปฏิรูปเศรษฐกิจช่วงเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลต้องพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศผู้นำด้านการค้า โดยตั้งธงให้ไทยเป็นศูนย์กลาง พร้อมปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของเอกชน และดึงบริษัทการค้ายักษ์ใหญ่เข้ามาตั้งสำนักงาน ยอมรับไทยเจอปัญหาหยุดชะงักตั้งแต่ปี 52 กระทบการลงทุนชะลอตัว “โอฬาร” แนะพัฒนาลอจิสติกส์เพื่อให้ต้นทุนต่ำลง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวอภิปรายหัวข้อ “การปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจช่วงเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ โดยระบุว่า ปัจจุบันเอกชนเริ่มขยายฐานการผลิตออกนอกประเทศเพื่อหาตลาดใหม่ และลดต้นทุนในประเทศที่สูงขึ้น แสดงว่าเอกชนไทยที่เข้มแข็งพร้อมที่ขยายการลงทุนออกไปในภูมิภาค สวนทางกับการลงทุนในไทยชะลอตัวลง เพราะขาดพื้นที่รองรับ
“กรณีดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และขาดแคลนแรงงาน ดังนั้น หากประเทศไทยไม่ดำเนินมาตรการใดๆ มากระตุ้น อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4-5 ซึ่งถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่พอใช้”
แต่หากประเทศไทยต้องการเติบโตแบบก้าวกระโดด ไทยต้องผลักดันให้เป็นประเทศผู้นำด้านการค้า (TRADING NATION ) ขายสินค้าทั้งที่ผลิตในประเทศ และที่ออกไปตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า ซึ่งต้องมีการสร้างระบบขนส่งให้มีความพร้อม เช่น รถไฟรางคู่ ท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลอันดามัน เช่น ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล เพื่อรองรับสินค้าไทย และสินค้าจากจีน
นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของเอกชน รวมทั้งดึงบริษัทการค้ายักษ์ใหญ่เข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ เตรียมเสนอเพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการค้า ซึ่งหากสำเร็จจะยกระดับรายได้ของคนไทยสูงขึ้น
นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้โครงสร้างเศรษฐกิจภายนอกประเทศกำลังปรับเปลี่ยน เพราะอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมีเอเชียซึ่งนำโดยจีนเป็นประเทศหลัก ดังนั้น ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เท่าทัน โดยเฉพาะเรื่องการกระจายรายได้และทรัพย์สิน
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องปรับตัว โดยอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือปรับตัวมุ่งสู่การผลิตสินค้าพร้อมสร้างแบรนด์ของตนเองมากขึ้น ดังที่หลายรายทำได้แล้ว เช่น CP ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้สะท้อนกับแนวทางการปรับตัวแล้ว โดยกรอบส่งเสริมการลงทุนใหม่ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป
สำหรับอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเกษตรคุณภาพสูง อุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ต้องเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน และเพิ่มด้านวิจัย และพัฒนาให้มากขึ้น พร้อมกันนี้ ต้องปรับคุณภาพการศึกษาของไทยให้ดีขึ้น เพราะขณะนี้ World Economic Forum (WEF) จัดให้การศึกษาประเทศไทยอยู่อันดับ 8 ใน 10 ชาติอาเซียน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงให้อยู่ในลำดับที่ดีขึ้น โดยควรจะได้ลำดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย เท่านั้น เพื่อไม่ให้ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ
ส่วนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลที่จะเชื่อมโยงไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบลอจิสติกส์ให้มีต้นทุนที่ต่ำลง เพราะหากต้นทุนส่วนนี้สูงเกินไปการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านจะเกิดขึ้นไม่ได้ พร้อมกับลดต้นทุนแฝงต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเร่งดำเนินการอยู่