“ภาวิช” ชี้เลื่อนเปิดเทอมอาเซียนยังมีปัญหา ทำคนละทิศทาง ระบุมหา’ลัยบางกลุ่มประกาศเลื่อนบางกลุ่มไม่เลื่อน ขณะที่ระดับโรงเรียน อาชีวะ ก็เปิดเทอมอีกช่วงเวลา เผยอาจต้องเรียกทุกฝ่ายมาคุยกำหนดปฏิทินการศึกษาร่วมกัน ขณะที่ผลวิจัยกลุ่มนิสิตครู ป.เอก สะท้อนการเลื่อนเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียนไม่สอดคล้องตามฤดูกาล ระวังเด็กต้องเรียนทั้งที่น้ำท่วม
วันนี้ (25 ก.ย.) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการจัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ผลกระทบทางเลือกและทางออกเกี่ยวกับการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนของสถานศึกษา ที่มุ่งเตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” ว่า ศธ.เห็นความจำเป็นการเตรียมพร้อมเรื่องอาเซียนปี 2558 จึงกำหนดกรอบแนวทางให้สถานศึกษาปฏิบัติ รวมถึงกำหนดให้มีการเลื่อนเปิด-ปิดภาคการศึกษาตามอาเซียนด้วย เดิมการเปิด-ปิดภาคการศึกษาและการกำหนดระบบต่างๆ จะคำนึงถึงความจำเป็นตามภูมิภาคของรัฐและประเทศ โดยเฉพาะกำหนดให้สอดคล้องตามฤดูกาล แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปฉะนั้นการอยู่โดยการจำแนกตัวเองคงต้องเปลี่ยนไป เพราะเราต้องคบหากับประเทศอื่นๆ มากขึ้น โดยปัจจุบันสิงคโปร์ มาเลเซีย และบูรไน ขยับปฏิทินอุดมศึกษาตามชาติตะวันตกแล้ว ประมาณช่วงเดือนสิงหาคม และทราบว่าเร็วๆ นี้ จะมีอีกหลายประเทศสมาชิกอาเซียนขยับปฏิทินตาม อาทิ ลาว กัมพูชา
ขณะที่ ในส่วนประเทศไทยที่ผ่านมากลุ่มมหาวิทยาลัยสมาชิกที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประกาศขยับปฏิทินการศึกษาตามอาเซียนพร้อมกันทั้งหมดในปีการศึกษา 2557 แล้ว แต่กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏก็เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยหนึ่ง ที่ยังประกาศใช้ปฏิทินการศึกษาเดิม ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ประกาศให้โรงเรียนขยับปฏิทินการศึกษาจากเดิมออกไปอีก 1 เดือน เริ่มในปีการศึกษา 2557 แต่โรงเรียนเอกชน อาชีวะเอกชนก็กำหนดปฏิทินอย่างหนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเรากำหนดปฏิทินการศึกษาไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นปัญหาต้องไปขบคิด หากปฏิทินการศึกษายังยุ่งอยู่อย่างนี้ ก็คงต้องมานั่งหารือกัน
“ในอาเซียนยังไม่มีประเทศใดขยับปฏิทินการศึกษาของระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเลย แต่ สพฐ.ประกาศขยับปฏิทินไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นเพราะเห็นอุดมศึกษาเริ่มขยับจึงขยับบ้าง แต่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องขยับตามอุดมศึกษาก็ได้ เพราะการมีเวลาว่างเพิ่มขึ้นระหว่างช่วงรอยต่อนั้น ก็มีข้อดีว่า สามารถจัดระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาให้อยู่ในช่วงปิดภาคเรียนได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม วันนี้สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาของมหาวิทยาลัยที่เปิดสอบตรง บางสาขาเปิดสอบตรงตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 บางสาขาที่ดังเปิดสอบหลายๆรอบจนเป็นปัญหา เรื่องนี้ถือว่าขาดสำนึกต่อสังคม” ผู้ช่วย รมต.ประจำ ศธ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการศึกษาของคณะนิสิตดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาบริหารการศึกษา (ในเวลาราชการ) รุ่นที่ 23 คณะ ครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลกระทบทางเลือกและทางออกเกี่ยวกับการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนของสถานศึกษา ที่มุ่งเตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” วิเคราะห์เป็น 2 แผน ได้แก่ 1.ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานคงปฏิทินเดิม เลื่อนเฉพาะระดับอุดมศึกษา ชี้ว่า การเปิด-ปิดของโรงเรียนสอดคล้องกับฤดูกาล วิถีชีวิตคนไทย และฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งยังทำให้มีเวลาเตรียมระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากขึ้น โดยเฉพาะการสอบโอเน็ตม.6 ได้หลังศึกษาจบชั้นม.6 แล้ว และสามารถทำกิจกรรมรับน้องได้เสร็จสิ้นก่อนเปิดภาคเรียน ขณะเดียวกันช่วงระยะเวลารอยต่อก่อนเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาที่มากขึ้นนั้น เด็กอาจใช้เวลาว่างเปล่าอย่างไร้ประโยชน์ เกิดการมั่วสุมหากไม่ได้รับการบริหารจัดการและส่งเสริมที่ดีจากภาครัฐ ซึ่งแผนนี้กระทบเฉพาะนักเรียนชั้น ม.6 และนิสิต/นักศึกษา ส่วนแผน 2 เลื่อนทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาตามประกาศปัจจุบัน ชี้ว่า โรงเรียนจะเปิดสอนไม่เหมาะสมกับฤดูกาล เพราะการเรียนการสอนจะอยู่ในช่วงฤดูท่องเที่ยว คือเดือนเมษายน และช่วงสอบและศึกษาจบในฤดูฝน อาจกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งแผนนี้จะกระทบนักเรียนทุกระดับชั้น และนิสิต/ศึกษา
สำหรับปฏิทินการศึกษาปีการศึกษา 2557 ที่มีการประกาศขยับนั้น ได้แก่ มหาวิทยาลัย 27 แห่งสมาชิก ทปอ. ประกาศขยับเปิด-ปิดภาคเรียนที่ 1 จากเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เป็นเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ภาคเรียนที่ 2 เลื่อนจากเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม เป็นเดือนมกราคม-พฤษภาคม ส่วนสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.ได้เลื่อนเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2557 เช่นกัน โดยภาคเรียนที่ 1 เลื่อนเลื่อนจาก 16 พฤษภาคม-11 ตุลาคม เป็น 10 มิถุนายน-4 พฤศจิกายน ส่วนภาคเรียนที่ 2 เลื่อนจากวันที่ 1 พฤศจิกายน-1 เมษายน เป็นวันที่ 26 พฤศจิกายน-26 เมษายน