xs
xsm
sm
md
lg

สรุปชัด! “16 พ.ค.” ของทุกปีเริ่มต้นการเรียนของวัยใส ไม่ไหลตามกระแสอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แล้วว่า จะไม่เลื่อนกำหนดเปิด-ปิดภาคเรียน ของการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มประเทศอาเซียนแน่นอน โดยยังคงยึดกำหนดเปิด-ปิดภาคเรียนเดิมของทุกปี คือ ภาคเรียนที่ 1 วันที่ 16 พ.ค.-11 ต.ค.และ ภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 พ.ย.-1 เม.ย.ของทุกปี

ซึ่งก่อนหน้านั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอให้เลื่อนเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2557 เป็นวันที่ 10 มิ.ย.-4 พ.ย.ส่วนภาคเรียนที่ 2 เปิดวันที่ 26 พ.ย.-26 เม.ย.ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวห่างจากช่วงกำหนดเปิด-ปิดตามปกติของทุกปีอยู่ราว 2 สัปดาห์

ย้อนกลับไปที่ต้นทางของการเลื่อนกำหนดการเปิด-ปิดภาคเรียน จุดเริ่มต้นมาจากมติที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ครั้งที่ 6/2554 ที่มีมติปรับเวลาการเปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับสากลและประชาคมอาเซียน โดยมหาวิทยาลัยที่เป็น สมาชิก ทปอ.ทั้ง 27 แห่งจะเปิด-ปิดภาคเรียนกำหนดใหม่พร้อมกันในปีการศึกษา 2557 ซึ่งมีกำหนดช่วงเวลาดังนี้ ภาคเรียนที่ 1 เปิดเดือน ส.ค.-ธ.ค.จากเดิม เดือน มิ.ย.-ต.ค. และ ภาคเรียนที่ 2 เปิดเดือน ม.ค.-พ.ค. จากเดิม เดือน พ.ย.-มี.ค. โดยมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ทปอ.ทั้ง 27 แห่ง จะเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ขณะที่มหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรนานาชาติ และมีความพร้อมบางส่วนก็เริ่มเปิด-ปิดภาคเรียนตามช่วงเวลาดังกล่าวมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2555

เหตุผลของในการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนนั้น ไม่ใช่เพียงประโยชน์ต่อการเคลื่อนย้าย หรือแลกเปลี่ยนทางการศึกษาของครู อาจารย์ และนักเรียนในกลุ่มประเทศอาเซียนหรือภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ปีที่ 3 ได้ใช้เวลาในการศึกษาเล่าเรียนให้เต็มเวลามากขึ้น ต่างจากทุกวันนี้ที่เด็กจะต้องเร่งเตรียมตัวสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งที่ยังศึกษาไม่จบส่งผลให้เกิดปัญหาเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย และช่วงว่างระหว่างจบการศึกษาและรอการเปิดภาคเรียน มหาวิทยาลัยก็จะใช้โอกาสนี้ในการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยทั้งเรื่องการปรับพื้นฐานการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพทางภาษาของนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามติ ทปอ.ดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมไม่ใช่เฉพาะแค่แวดวงการศึกษาที่เอี่ยวโดยตรง แต่ยังรวมไปถึงประชาชนทั่วประเทศเพราะความเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การตั้งคำถามถึงข้อดี-ข้อเสียของการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนให้ตรงกับสากล โดยเฉพาะหวั่นเกรงว่าจะขัดแย้งกับวิถีชีวิต ประเพณี และฤดูกาลต่าง ๆ ของประเทศไทย เป็นความกังวลใจที่ตลอดมาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างเร่งศึกษาหาความชัดเจน

โดย มีผลการศึกษาล่าสุด ของนิสิตดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาบริหารการศึกษา (ในเวลาราชการ) รุ่นที่ 23 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลกระทบทางเลือกและทางออกเกี่ยวกับการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนของสถานศึกษาที่มุ่งเตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” วิเคราะห์เป็น 2 แผน ได้แก่ 1.ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานคงปฏิทินเดิม เลื่อนเฉพาะระดับอุดมศึกษา ชี้ว่า การเปิด-ปิดของโรงเรียนสอดคล้องกับฤดูกาล วิถีชีวิตคนไทย และฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งยังทำให้มีเวลาเตรียมระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากขึ้น โดยเฉพาะการสอบโอเน็ต ม.6 ได้หลังศึกษาจบชั้น ม.6 แล้ว และสามารถทำกิจกรรมรับน้องได้เสร็จสิ้นก่อนเปิดภาคเรียน ขณะเดียวกันช่วงระยะเวลารอยต่อก่อนเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาที่มากขึ้นนั้น เด็กอาจใช้เวลาว่างอย่างไร้ประโยชน์ เกิดการมั่วสุม หากไม่ได้รับการบริหารจัดการและส่งเสริมที่ดีจากภาครัฐ ซึ่งแผนนี้กระทบเฉพาะนักเรียนชั้น ม.6 และนิสิต/นักศึกษา

ส่วนแผน 2 เลื่อนทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาตามประกาศปัจจุบัน ชี้ว่า โรงเรียนจะเปิดสอนไม่เหมาะสมกับฤดูกาล เพราะการเรียนการสอนจะอยู่ในช่วงฤดูท่องเที่ยว ในเดือนเมษายน และช่วงสอบยังตรงกับฤดูฝน ซึ่งแผนนี้จะกระทบนักเรียนทุกระดับชั้น และนิสิต/ศึกษา เพราะตามปกติในช่วงเดือน ต.ค.ซึ่งเป็นช่วงหน้าฝน และอาจมีปัญหาน้ำท่วม เดิมเป็นช่วงปิดเทอมแล้ว แต่ปฏิทินใหม่ทำให้ต้องเรียนกันจนถึงเดือน พ.ย.นี้

ขณะที่ สพฐ.เองสำรวจความเห็นจากนักเรียน ผู้ปกครอง ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และภาคเอกชน รวมจำนวน 15,696 คน พบว่า 8,560 คน หรือ 54.54% เห็นด้วยที่ให้เปิดภาคเรียนอย่างเดิมในวันที่ 16 พ.ค.มี 2,820 คน หรือ 27.44 % เห็นด้วยให้เลื่อนเปิดภาคเรียนตามมหาวิทยาลัยในเดือน ส.ค.มีเพียง 4,308 คน หรือ 18.02% ที่เห็นด้วยให้เปิดภาคเรียนในวันที่ 10 มิ.ย.โดยจากการพิจารณาเปิดภาคเรียนอย่างเดิม มีข้อดี คือ การเรียนส่วนใหญ่ของนร.ชั้น ม.1-ม.5 มีความสอดคล้องในเชิงของภูมิอากาศ ประเพณีต่างๆ ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน ซึ่งถ้าเปลี่ยนไปก็อาจจะได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ อีกทั้งไม่ต้องจัดทำกฎร่างระเบียบ ไม่กระทบต่อการอุดหนุนรายหัว

สรุปปลายทางจากการพิจารณาข้อมูลต่างๆ ทำให้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ นำประเด็นการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนของระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าหารือในที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และมีมติว่า “ยืนยันใช้กำหนดเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิม โดยเปิดภาคเรียนที่ 1 วันที่ 16 พ.ค.-11 ต.ค.และเปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 พ.ย.-1 เม.ย.ของทุกปี เพราะเห็นว่ากำหนดเปิด-ปิดภาคเรียนที่ใช้อยู่นั้นมีข้อดีมากกว่ามีความสอดคล้องกับสภาพสังคม ประเพณี ฤดูกาลของไทยมากกว่า นักเรียนไม่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมเดือน ต.ค.และยังสอดคล้องกับสภาพตลาดแรงงานในประเทศด้วย เพราะความต้องการแรงงานในประเทศจะขึ้นสูงมากในช่วง มี.ค.-พ.ค.ของทุกปี เพราะฉะนั้น ถ้านักเรียนโดยเฉพาะนักเรียนอาชีวศึกษาสำเร็จการศึกษาในช่วง เม.ย.ก็จะสอดคล้องกับตลาดแรงงานมากกว่า ส่วนที่กังวลว่าเด็ก ม.6 จะมีเวลาว่างหลังจบการศึกษาร่วม 4 เดือนกว่าจะเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยในเดือน ส.ค.นั้น ศธ.ก็จะใช้โอกาสนี้ในการปรับระบบการสอบรับตรง โดยจะขอความร่วมมือในการสอบรับตรงหลังจบการศึกษาหรือหลัง 1 เม.ย.ไปแล้วซึ่งเด็กจะมีโอกาสเตรียมตัวมากขึ้นและมหาวิทยาลัยก็มีเวลาจัดระบบการสอบให้ดีขึ้นด้วย ในส่วนของการทดสอบระดับชาติโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) นั้นก็ได้รับการตอบรับแล้วว่าจะขยับไปดำเนินการปิดภาคเรียน”

นับเป็นข้อสรุปเปรียบเสมือนช่วย “ยกภูเขาออกจากอก” ให้ใครหลายคน ที่ห่วงใยในเรื่องนี้มาโดยตลอด รวมทั้ง ทปอ.ก็สบายใจเพราะยืนยันมาแต่ต้นว่าไม่ได้ต้องการให้การศึกษาขั้นพื้นฐานมาเลื่อนเปิด-ปิดตามมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด ที่แน่ๆ ผลการศึกษาวิจัย และผลสำรวจความเห็นก็สะท้อนได้ชัดเจนแล้วหากยืนกรานจะเลื่อนจริงๆ โดยเฉพาะในเดือนต.ค.ที่เป็นฤดูฝนด้วยคงปวดหัว เพราะจากสภาพที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้ฝนตกหนัก หลายพื้นที่น้ำท่วม เดือดร้อนกันไปทั่วถ้ายังดันทุรังจะเปิดเรียนช่วงนี้ละก็ คงได้เห็นเด็กนั่งเรียนหนังสือท่ามกลางมวลน้ำรอบตัว

**สำหรับ 27 มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.** ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล,มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยบูรพา,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยนครพนม, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 


กำลังโหลดความคิดเห็น