คณะกรรมการชะลอพิจารณายกเลิก “ใบกระท่อม” จากบัญชียาเสพติด เหตุ ก.ยุติธรรม ยังไม่ส่งข้อมูลผลกระทบประกอบการพิจารณา และไม่มีความชัดเจนจะยกเลิกแบบมีการควบคุมหรือไม่ แต่มอบคณะอนุฯหามาตรการควบคุมล่วงหน้า พร้อมพิจารณาผลกระทบด้านต่างๆ
วันนี้ (13 ก.ย.) ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีวาระการพิจารณากรณีกระทรวงยุติธรรมเสนอให้ยกเลิกใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ว่า เรื่องนี้กระทรวงยุติธรรมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อศึกษาผลกระทบสำหรับประกอบการพิจารณายกเลิกใบกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษแล้ว แต่ยังไม่มีการส่งเป็นหนังสือข้อมูลมายังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่อย่างใด คาดว่ากำลังอยู่ในช่วงสรุปมติและความเป็นไปได้ในการพิจารณายกเลิก ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ คณะกรรมการจึงลงมติว่าให้ชะลอการพิจารณาออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม เพื่อความรวดเร็วจึงได้มอบให้คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณามาตรการการควบคุมพืชกระท่อม ดำเนินการหามาตรการควบคุมใบกระท่อม เพื่อที่จะได้นำมาประกอบกับข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมต่อไป
ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับคณะอนุกรรมการได้มีการแต่งตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 แต่เพื่อให้มีความครอบคลุม จึงจะเพิ่มองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการอีก 3 หน่วยงาน คือ ผู้แทนจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมสุขภาพจิต และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งล่าสุดได้มอบหมายให้ อย.ดำเนินการขอรายชื่อผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งด้านสังคม ความมั่นคง การปกครอง การแพทย์ วิทยาศาสตร์ พิษวิทยา จริยธรรม และเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งการพิจารณาแต่ละครั้งประธานจะให้เข้าประชุมได้ไม่เกิน 3 คน ดังนั้น ถ้าการประชุมพิจารณาเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดก็จะเชิญผู้เชี่ยวชาญที่ตรงกับสาขานั้นเข้ามาให้คำแนะนำ
“ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ ประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากมีการยกเลิกพืชกระท่อมจากบัญชียาเสพติด หากยกเลิกโดยไม่ต้องมีการควบคุม ก็ต้องมีการพิจารณาว่ามาตรการหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร หรือถ้ายกเลิกแบบควบคุมจะมีการควบคุมระดับไหน หรือถ้ายังอยู่ในบัญชียาเสพติดแต่ให้มีการใช้อย่างมีเงื่อนไข ก็ต้องมาศึกษาว่าเงื่อนไขที่กำหนดควบคุมจะกำหนดอย่างไร จะวางมาตรการอย่างไร ข้อกฎหมายที่จะเขียนแก้ไขสามารถเขียนได้หรือไม่ และต้องรอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่ายก่อน เป็นต้น ซึ่งการยกเลิกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ไม่ใช่แค่ประกาศยกเลิกจากบัญชีเพียงอย่างเดียว เพราะมาตรการควบคุมถูกบรรจุอยู่ในมาตราหลักในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษด้วย ถ้าจะยกเลิกออกจากบัญชี ก็จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติ ซึ่งจะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาก่อน” ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด กล่าว
ภก.ประพนธ์ กล่าวด้วยว่า ประเด็นใบกระท่อมไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่เคยมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาแล้ว เมื่อปี 2546-2548 แต่ท้ายสุดคณะกรรมการก็เห็นว่าต้องควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพราะขณะนั้นยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าการยกเลิกมีผลดีมากกว่าเสีย และช่วงนั้นยังมีปัญหาการใช้กระท่อมในทางที่ผิด จึงเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องควบคุม อย่างไรก็ตาม แม้ใบกระท่อมจะอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 แต่ก็ไม่ได้มีการห้ามใช้อย่างเด็ดขาด แต่สามารถขออนุญาตใช้จาก อย.ได้ อย่างขณะนี้แพทย์แผนโบราณก็ใช้ในกรณีรักษาอาการท้องเสีย แต่จะต้องขออนุญาตจาก อย.เป็นรายๆ ไป โดย อย.จะพิจารณาปริมาณที่ใช้และสรรพคุณว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 9:00 น. มูลนิธิพีเอสไอ (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย อาทิ เครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย มูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เป็นต้น กว่า 50 คนได้เดินทางเข้าพบ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เพื่อให้พิจารณาถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษปีพ.ศ. 2522
นายศักดิ์ดา เผือกชาย ประธานเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะคนภาคใต้และรู้จักกระท่อมมาตั้งแต่จำความได้ ไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการและสื่อต่างๆ ที่ให้ข้อมูลสู่สาธารณะถึงโทษและปัญหาที่เกิดจากกระท่อม ถ้าพูดตามบริบทในพื้นที่จริงๆ ว่าทำไมยังมีการใช้กระท่อมกันจนถึงปัจจุบัน บริบทในอดีต เขาใช้เคี้ยวใบกระท่อมและไปทำนาทำสวนหรือใช้แรงงานทั่วไป และเป็นประเพณีการต้อนรับคนที่ไปมาหาสู่เหมือนมีหมากพลูต้อนรับกันทุกบ้าน ต่อมาก็มีการยืนยันบอกต่อกันว่าสามารถช่วยกลุ่มคนที่เป็นเบาหวานได้ด้วย นั่นคือวิถีเดิมของการใช้ใบกระท่อม และตอนนี้ก็ต้องยอมรับข้อมูลเชิงวิชาการ ว่ากระท่อมสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรได้ ซึ่งมาจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน
"เหตุผลที่ผมมองว่าสมควรที่จะถอดถอนพืชกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดนั้นก็คือ ในหลายๆชุมชนทางภาคใต้ที่ผมได้สัมผัส พืชกระท่อมถือว่าเป็นทางเลือกที่เป็นประโยชน์กับชุมชนและครอบครัว ตัวอย่างเช่นหัวหน้าครอบครัวที่กินเหล้าก็หันมากินหรือดื่มใบกระท่อมแทน คุณภาพชีวิตของหลายครอบครัวดีขึ้นในเชิงบวก สามารถไปทำงานได้ทุกวันไม่ทะเลาะกัน มีรายจ่ายลดลง ไม่ก่ออาชญากรรม และไม่ทะเลาะวิวาท เมื่อไม่กินเหล้า ก็ทำให้อุบัติเหตุที่เคยมีก็ลดลง ผมจึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมองถึงประโยชน์และข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและผมขอเป็นเสียงแทนชาวบ้าน" นายศักดิ์ดา กล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยยึดข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการ มูลนิธิพีเอสไอ (ประเทศไทย) และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องจึงได้รวมตัวกันยื่นหนังสือรวมทั้งเอกสารอ้างอิงทางวิชาการ ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อม ให้กับตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข และคณะควบคุมยาเสพติดให้โทษ โดยมีข้อเสนอว่าขอให้มีการเวทีวิชาการและทบทวนข้อมูลในเชิงวิชาการ รายงานการวิจัยเกี่ยวพืชกระท่อม ขอให้การให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องต่อสาธารณะเกี่ยวกับพืชกระท่อม รวมถึงกำกับดูแลบุคคลากรในการออกข่าวสารต่อสาธารณโดยมีข้อมูลที่ข้ออ้างอิงและเอกสารสนับสนุน และขอให้คณะอนุกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณาเรื่องพืชกระท่อม หรือสารเสพติดอื่นๆ ที่มีอยู่หรือจะนำมาบรรจุใหม่ในอนาคตโดยใช้ข้อมูลในเชิงวิชาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างรอบด้าน