กรุงเทพโพลล์ สำรวจพบประชาชน 70% คิดว่าใบกระท่อมเป็นยาเสพติด 61% ไม่เชื่อหากยกเลิกใบกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดสามารถลดคนเสพยาบ้าได้ ขณะเดียวกัน 60% ไม่เชื่อว่าจะช่วยลดเงื่อนไขความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ 45% ชี้หากให้ใบกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติดจะนำไปสู่สิ่งเสพติดที่ร้ายแรงกว่า
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ “ยาเสพติดกับการปลอดล็อคใบกระท่อม” ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,171 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.5 คิดว่าใบกระท่อมเป็นยาเสพติด และมีเพียงร้อยละ 29.5 เท่านั้นที่ไม่คิดว่าเป็นยาเสพติด
ส่วนที่กระทรวงยุติธรรมจะแก้กฎหมายให้ยกเลิกใบกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดนั้น ประชาชนร้อยละ 46.3 เห็นด้วยหากนำมาใช้ในวงการแพทย์เท่านั้น รองลงมาร้อยละ 27.5 ไม่เห็นด้วยเด็ดขาดเพราะถือว่าเป็นยาเสพติด และร้อยละ 14.6 เห็นด้วยและยอมรับได้ในทุกกรณี ที่เหลือร้อยละ 11.6 ไม่แน่ใจ
เมื่อถามว่า การยกเลิกใบกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดจะช่วยลดปริมาณคนเสพยาบ้าได้หรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.1 ระบุว่า “แก้ไม่ได้” มีเพียงร้อยละ 19.0 เท่านั้นที่ระบุว่า “แก้ได้” เช่นเดียวกับ ร้อยละ 60.2 ที่ไม่เชื่อว่าการยกเลิกใบกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดจะช่วยลดเงื่อนไขความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ มีเพียงร้อยละ 12.6 เท่านั้นที่ระบุว่า “แก้ได้” (การจับกุมคนเสพกระท่อม ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นชนวนเหตุเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับมวลชนในพื้นที่)
อย่างไรก็ตาม หากมีการยกเลิกใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดจริง ประชาชนร้อยละ 49.2 เห็นว่าต้องควบคุมให้ปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น รองลงมาร้อยละ 38.7 เห็นว่าต้องควบคุมปริมาณและพื้นที่ปลูกให้ชัดเจนและมีการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง และมีเพียงร้อยละ 5.1 เท่านั้น ที่เห็นว่าไม่ต้องควบคุม ให้ปลูกได้อย่างเสรี
ทั้งนี้หากมีการดำเนินตามแนวคิดดังกล่าวจริง ประชาชนร้อยละ 52.2 มีความห่วงและกังวล โดยเรื่องที่ห่วงและกังวลมากที่สุดคือ กลัวจะมีคนเสพใบกระท่อมมากขึ้น เพราะหาซื้อง่ายขึ้น ร้อยละ 12.1 กลัวจะเอาไปใช้ในทางที่ผิดเอาไปดัดแปลง ร้อยละ 9.2 และ กลัวลูกหลาน วัยรุ่น เยาวชน จะอยากรู้อยากลองมากขึ้น ร้อยละ 8.7 ขณะที่ประชาชนร้อยละ 47.8 ไม่ห่วงและกังวลเลย โดยให้เหตุผลว่าเป็นพืชสมุนไพรใช้รักษาโรคได้ ร้อยละ 12.6 รองลงมาคือฤทธิ์ไม่รุนแรง กินแล้วสู้แดด มีกำลัง และรุนแรงน้อยกว่าบุหรี่ ร้อยละ 12.0 และคิดว่าไม่ใช่ยาเสพติด ร้อยละ 6.1
สุดท้ายเมื่อถามว่าการกินหรือเสพใบกระท่อม อาจนำไปสู่การเสพสิ่งเสพติดที่ร้ายแรงกว่าใช่หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 45.6 ระบุว่า “ใช่” ขณะที่ร้อยละ32.5 ระบุว่า “ไม่ใช่” ที่เหลือร้อยละ 21.9 ไม่แน่ใจ