xs
xsm
sm
md
lg

“เอดส์” รู้เร็วรักษาหายได้ คกก.เอดส์ เตรียมประกาศให้ยาต้านไวรัส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คกก.เอดส์ เตรียมประกาศ “เอดส์รู้เร็ว ให้ยาต้านไวรัสไว มีโอกาสรักษาหายได้” หลังมีงานวิจัยในสหรัฐฯยืนยัน มั่นใจหากเดินหน้าเช่นนี้สามารถลดการแพร่เอดส์จากแม่สู่ลูกลงเหลือศูนย์ได้ในปี 2559

นางหรรษา ไทยศรี นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ ได้นำเสนอเรื่อง "การเปรียบเทียบขั้นตอนระยะเวลาการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี-1 ในเด็กที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อด้วยวิธี DNA-PCR ระหว่างสิ่งส่งตรวจชนิดหลอดเลือดและกระดาษซับเลือด” โดยศูนย์วิจัยทางคลินิกกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พ.ศ.2555-2556 ในงานการประชุมวิชาการสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2556 ว่า เด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ปีที่วินิจฉัยว่าได้รับการติดเชื้อเอชไอวีนั้น ปี 2553 องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้เริ่มยาต้านไวรัสทันที ขณะที่ปี 2554 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ปรับนโยบายการดำเนินงานป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก โดยกำหนดให้เด็กทุกรายที่คลอดจากแม่ติดเชื้อต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีให้เร็วที่สุด ด้วยวิธีการตรวจแบบเพิ่มปริมาณพันธุกรรม (PCR) โดยตรวจครั้งแรกที่อายุ 1 เดือน และครั้งที่สองตอนอายุ 2 เดือน เพื่อยืนยันผลและรับยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุด เพราะมีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้

“เมื่อเดือน มี.ค.2556 มีการศึกษาและทดลองการตรวจรักษาเคสมิสซิสซิปปีเบบี้ พบว่า หากพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้เร็วก็จะสามารถทำการรักษาให้หายได้ และในเดือน ต.ค.นี้ผลการยืนยันการตรวจครั้งที่ 3 จะออกมา และหากผลการตรวจครั้งที่ 3 ไม่พบเชื้ออีกก็จะสามารถยืนยันได้ว่าการตรวจพบเชื้อเร็วแล้วให้ยาไว จะสามารถรักษาได้ เนื่องจากผลการตรวจครั้งที่ 1 และ 2 ไม่พบเชื้อ” นางหรรษา กล่าว

นางหรรษา กล่าวอีกว่า หากดำเนินการตามนี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่การจัดการเชิงรุกเพื่อหยุดการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกให้เป็นศูนย์ได้ในปี 2559 ตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ทั้งนี้ ภายในเดือน ต.ค.นี้ คณะกรรมการเอดส์จะทำการประกาศเพื่อยืนยันอีกครั้งว่าเอดส์หากรู้เร็วตรวจเร็วมีโอกาสรักษาหายได้และออกมาตรการในการช่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างครอบคลุม ซึ่งขณะนี้ไทยพบอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกร้อยละ 1.98

นางหรรษา กล่าวด้วยว่า การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR ในเด็กที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวี ถือเป็นวิธีที่ดี เนื่องจากสามารถตรวจหาเชื้อในเด็กที่มีอายุ 1 เดือน ซึ่งจากเดิมที่ตรวจด้วยวิธีซีโรโลจีเด็กจะสามารถตรวจได้เมื่อมีอายุ 18 เดือน นอกจากนี้ ปัจจุบัน สธ.ยังมีวิธีการส่งตรวจเลือดจากแผ่นซับเลือดแทนการส่งหลอดเลือดตรวจ เนื่องจากสะดวกและลดปัญหาการดูแลรักษาเด็กกลุ่มเสียงที่ไม่ครอบคลุม เพราะเดิมทีโรงพยาบาลในต่างจังหวัดจะไม่ค่อยส่งเลือดเข้ามาให้ตรวจ เพราะมีปัญหาการจัดส่งที่จะต้องส่งให้ทันเวลาภายใน 2 วัน แต่ถ้าใช้แผ่นซับเลือดจะยืดเวลาการส่งได้นานถึง 1 เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น