xs
xsm
sm
md
lg

2 ผู้ป่วยเอดส์ไร้ร่องรอยไวรัสหลังปลูกถ่ายไขกระดูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


2 ผู้ป่วยเอดส์ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีมานาน 30 ปี ไม่พบสัญญาณของเชื้อไวรัสดังกล่าวหลังเข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูก โดยรายหนึ่งไม่รับยาต้านไวรัสมาเกือบ 4 เดือน แต่ก็ไม่พบไวรัสในระดับที่ตรวจสอบได้

การค้นพบดังกล่าวถูกนำเสนอภายในการประชุมของสมาคมเอดส์นานาชาติ (International Aids Society Conference) ซึ่งรายงานของแพทย์ระบุว่า ผู้ป่วยทั้งสองรายที่ไม่ได้รับการเปิดเผยนั้น หยุดใช้ยาต้านไวรัสหลังปลูกถ่ายไขกระดูกแล้วไม่พบไวรัสเอชไอวี (HIV) ในระดับที่ตรวจสอบได้ และไม่พบสัญญาณว่ามีไวรัสดังกล่าวกลับมาใหม่

ทั้งนี้ การกำจัดไวรัสเอชวีเป็นเรื่องยาก เพราะไวรัสซ่อนอยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์ และสร้างรังเพาะเชื้อที่ไม่อาจแตะต้องได้ในร่างกายผู้ป่วย การใช้ยาต้านไวรัสเป็นการควบคุมไวรัสในกระแสเลือด แต่เมื่อหยุดใช้ยา ไวรัสก็กลับมาอีก

สำหรับผู้ป่วย 2 รายดังกล่าวนั้น มีอาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก โดยไขกระดูกนั้นเป็นแหล่งสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่ และเชื่อว่าเป็นแหล่งซ่อนตัวแหล้งใหญ่ของเชื้อไวรัสเอชไอวี

ทว่าหลังได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกแล้วก็ไม่พบไวรัสเอชไอวีในผู้ป่วยนิรนามทั้งสองราย โดยรายหนึ่งไวรัสหายไป 2 ปี และอีกรายไม่พบไวรัสมา 4 ปีแล้ว ซึ่งทั้งคู่เพิ่งหยุดรับยาต้านไวรัสเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ รายหนึ่งหยุดรับยา 15 สัปดาห์ อีกรายหยุดได้ 7 สัปดาห์ตามรายงานของบีบีซีนิวส์ แต่ก็ตรวจไม่พบสัญญาณของไวรัสอีก

ดร.ทิโมธี เฮนริช (Dr.Timothy Henrich) จากโรงพยาบาลไบรแฮมและสตรี (Brigham and Women's Hospital) ในสหรัฐฯ ซึ่งรายงานการค้นพบนี้ บอกทางบีบีซีนิวส์ว่า พวกเขาไม่ได้สาธิตถึงการรักษาผู้ป่วยเอดส์ แต่ยังต้องศึกษาเรื่องนี้ต่อไปอีกระยะยาว

"สิ่งที่เราพูดได้แน่ๆ คือ ไวรัสหายไปนาน 1 ปี หรืออาจจะ 2 ปี หลังจากเราหยุดการบำบัดรักษา ซึ่งโอกาสที่ไวรัสจะกลับมาอีกมีค่อนข้างต่ำ" ดร.เฮนริชกล่าว และบอกด้วยว่าตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่เอ่ยถึงการรักษา

ทั้งนี้ เชื่อว่าไขกระดูกที่ได้รับการปลูกถ่ายนั้นถูกปกป้องด้วยฤทธิ์ยาต้านไวรัส ขณะเดียวกันไขกระดูกที่ปลูกถ่ายก็เข้าจู่โจมไขกระดูกที่เหลือซึ่งเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัส แต่ ดร.เฮนริชเตือนว่า ไวรัสเอชไอวียังอาจซุกซ่อนอยู่ในเนื้อเยื่อสมองและระบบทางเดินอาหาร และหากไวรัสกลับมาอีกแสดงว่ายังมีแหล่งซ่อนไวรัสที่สำคัญอื่นๆ อีก ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อการรักษาโรคจากเอชไอวี

ยังมีกรณีของ ทิโมธี บราวน์ (Timothy Brown) ที่รู้จักกันอีกชื่อว่า "ผู้ป่วยเบอร์ลิน" (Berlin patient) ซึ่งเชื่อว่าเป็นรายแรกที่ได้รับการรักษาเอดส์จนหาย ปโดยเขาได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกจากผู้บริจาคที่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อเอชไอวี ซึ่งหาได้ยาก ขณะที่ผู้ป่วย 2 รายในสหรัฐฯ ได้รับไขกระดูกจากคนทั่วไปที่ไม่ได้มีภูมิต้านทาน

นอกจากนี้ยังรายงานการรักษาทารกเิดใหม่ในมิสซิสซิปปี สหรัฐฯ ซึ่งได้รับยาต้านไวรัสตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งเชื่อว่าไวรัสถูกกำจัดออกหมดจากร่างกายก่อนที่จะมีการสร้างแหล่งรังโรคขึ้นในร่างกาย

ส่วน ดร.ไมเคิล บราดี (Dr.Michael Brady) ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของเทอรเรนซ์ฮิกกินส์ทรัสต์ (Terrence Higgins Trust) ให้ความเห็นว่ายังเร็วเกินไปที่รู้ว่าเชื้อเอชไอวีนั้นถูกกำจัดออกจากร่างกายจนหมด หรือจะกลับมาอีกหรือไม่ แต่กรณีของผู้ป่วยสหรัฐฯ ก็ชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับทิโมธี บราวน์ อาจจะไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นครั้งเดียว

ดร.บราดีกล่าวว่า การปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนและราคาแพง ซึ่งมาพร้อมความเสี่ยงสูง ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่มีเชื้อเอชไอวีมักจะมีความเสี่ยงต่ออันตรายเมื่อรับการปลูกถ่ายมากกว่าทำการควบคุมไวรัสด้วยการให้ยาแบบรายวัน แต่วิธีการนี้ก็เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการรักษาที่ได้ผล

ด้าน เคลวิน ฟรอสต์ หัวหน้ามูลนิธิเพื่อการวิจัยเอดส์ (Foundation for AIDS Research) องค์กรไม่แสวงผลกำไรนานาชาติเพื่อสนับสนุนงานวิจัยรักษาเอดส์ กล่าวว่า การค้นพบล่าสุดนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่สำคัญ ซึ่งอาจจะกระตุ้นความคิดในปัจจุบันต่อเชื้อเอชไอวีและการบำบัดด้วยยีน ขณะที่การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อาจไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคนส่วนใหญ่ที่มีเชื้อเอชไอวี ด้วยราคาที่แพงและยังยุ่งยาก การพบกรณีใหม่เช่นนี้อาจนำเราไปสู่การบำบัดแบบใหม่ ที่ท้ายสุดอาจกำจัดเอชไอวีอย่างสิ้นเชิง







กำลังโหลดความคิดเห็น