อธิบดี กพร.เผยได้รับงบประมาณปี 2557 กว่า 2 พันล้าน เร่งพัฒนาทักษะฝีมือ-ภาษา ให้แก่แรงงานไทย เน้นสาขาไทยมีศักยภาพแข่งขันได้ในเวทีเออีซี เน้นทำงานเป็นเครือข่ายกับหน่วยงานรัฐ อปท.-เอกชน ดันผู้ประกอบการพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้าง
วันนี้ (6 ก.ย.) นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแนวทางการดำเนินงานตามแผนพัฒนาฝีมือแรงงานปีงบประมาณ 2557 ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ว่า กพร.ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2557 กว่า 2,070 ล้านบาท มีเป้าหมายพัฒนาฝีมือแรงงานจำนวน 3,478,613 คน ซึ่งในจำนวนนี้ดำเนินการโดย กพร.จำนวน 217,833 คน และส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 จำนวน 3,260,780 คน ขณะเดียวกัน กพร.จะจัดอบรมภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียน ให้แก่แรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมรับประชาคมอาเซียน (เออีซี) ให้ได้ประมาณ 20,000 คน และอบรมอาชีพให้แก่แรงงานนอกระบบในกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้ต้องขัง ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด ทหารเกณฑ์ โดยจะอบรมให้ได้ทั้งหมด 1,413 คน
ส่วนแนวทางการพัฒนาฝีมือแรงงานเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งตนได้แจ้งให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค (สพภ.) และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด (ศพจ.) ต่างๆ ใช้งบประมาณให้คุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดโดยการยกระดับฝีมือแรงงานนั้นได้ให้ สพภ.และ ศพจ.ประสานกับสถานประกอบการส่งเสริมให้ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานฝีมือสาขาต่างๆ มาเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หากไม่ผ่านการทดสอบ กพร.จะร่วมกับผู้ประกอบการจัดอบรมทักษะฝีมือเพิ่มเติม ซึ่งกพร.จะรับรองหลักสูตรอบรม และผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือลูกจ้างมาขอลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
“กพร.จะปรับยุทธศาสตร์การทำงานใหม่ เน้นให้มีคุณภาพดีขึ้นจริง เพราะงบประมาณปี 2557 ได้รับลดลงจากปีที่แล้ว 80 ล้านบาท จึงต้องลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายลงและพยายามใช้งบให้คุ้มค่ามากที่สุด เช่น การพัฒนาฝีมือและศักยภาพแรงงานก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานปีงบ 2557 ตั้งเป้าไว้ 1,400 คน ลดลงจากงบปี 2556 จำนวน 3,600 คน ต่อไปการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานจะหันมาเน้นสาขาอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีเออีซี เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ท่องเที่ยว โรงแรม รวมทั้งอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เช่น โลจิสติกส์ ระบบขนส่งราง และจะเน้นทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ เช่น สถานประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมในการพัฒนาฝีมือแรงงานและอบรมอาชีพให้แก่แรงงาน โดย สพภ.และ ศพจ.จะเป็นพี่เลี้ยงและให้หน่วยงานที่ต้องการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเจ้าภาพ” นายนคร กล่าว