สวธ.ประกาศขึ้นทะเบียนข้าวหอมมะลิ ข้าวหลาม ขนมเบื้อง มวยตับจาก ผ้าขาวม้า ยาหม่อง หัวโขน ลำตัด ผีตาโขน บุญบั้งไฟ เป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชาติ 68 รายการ เตรียมพร้อมรองรับเป็นภาคีมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ของยูเนสโก
วันนี้ (3 ก.ย.) นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2556 กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้จัด “พิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2556 ด้วยตระหนักว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น ภาษา วรรณกรรม ศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือ การละเล่น กีฬาพื้นบ้าน ประเพณี พิธีกรรม หรือองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ที่เป็นวิถีการดำเนินชีวิตดั้งเดิมกำลังเสี่ยงต่อการสูญหายและถูกคุกคามจากกระแสต่างๆ ทั้งการถูกละเมิด กระแสโลกาภิวัตน์ และการไม่เคารพต่อคุณค่าดั้งเดิมต่อวัฒนธรรม ซึ่งปีนี้ สวธ.ประกาศขึ้นทะเบียนฯ ใน 7 สาขา จำนวน 68 รายการ ดังนี้ สาขา ศิลปะการแสดง 15 รายการ ได้แก่ วงปี่จุ่ม วงมังคละ วงมโหรี ลำตัด อีแซว แคน พิณ สรภัญญะ เพลงบอก เพลงเรือแหลมโพธิ์ กรือโต๊ะ ฟ้อนเล็บ รำปะเลง ฟ้อนกลองตุ้ม ลิเกป่า
สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม 13 รายการ ได้แก่ ผ้าทอไทพวน ผ้าขาวม้า ตะกร้อหวาย ขัวแตะ เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว ฆ้องบ้านทรายมูล ประเกือมสุรินทร์ งานคร่ำ หัวโขน บายศรี สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน 9 รายการ ได้แก่ เจ้าแม่สามมุก ปัญญาสชาดก ตำนานกบกินเดือน ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกเหนี่ยว นิทานยายกะตา นิทานก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ บทเวนทาน ผญาอีสาน ตำราพรหมชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย 6 รายการ ได้แก่ กาฟักไข่ หนอนซ้อน ชีละ มวยโบราณสกลนคร มวยตับจาก มวยทะเล
สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล 12 รายการ ได้แก่ ประเพณีตักบาตรเทโว บุญบั้งไฟ ผีตาโขน จ.เลย กวนข้าวทิพย์ โกนจุก บายศรีสู่ขวัญ ทำขวัญนาค ลงเล กองข้าวศรีราชา ชลบุรี แห่พญายมบางพระ ชลบุรี สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 9 รายการ ได้แก่ อาหารบาบำ กระยาสารท ขนมเบื้อง ข้าวยำ ข้าวหลาม ยาหม่อง คึฉื่ยของกะเหรี่ยง ข้าวหอมมะลิ ปลากัดไทย และสาขาภาษา 8 รายการ ได้แก่ ภาษาเลอเวีอะ ภาษาโซ่ (ทะวึง) ภาษาตากใบ (เจ๊ะเห) ภาษาสะกอม ภาษาอูรักลาโวยจ ภาษามานิ (ซาไก) ภาษาไทยโคราช (ไทยเบิ้ง) ภาษาพิเทน ภาษาเขมรถิ่นไทย
นายสนธยา บอกว่า การประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ถือว่าเป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งที่มุ่งส่งเสริมให้ตระหนักถึงคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ยกย่องภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ส่งเสริมศักดิ์ศรีทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของกลุ่มชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เกิดการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่อยู่ในอาณาเขตประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกในอนาคต
ด้าน นายชาย นครชัย อธิบดี สวธ.กล่าวว่า สวธ.ยังได้มอบเกียรติบัตรให้แก่ชุมชนที่ร่วมสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติดีเด่น จำนวน 17 ชุมชน และมอบนโยบายเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้น การพัฒนาองค์ความรู้ในมรดกภูมิปัญญาให้เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ในการนำไปต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมระดับสูงที่เชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งโดยสนับสนุนการค้นหาอัตลักษณ์อันโดดเด่นของชุมชน และร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมทั้งเร่งรัด ผลักดันกลไกในการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศสู่ระดับนานาชาติ และการสร้างมาตรการทางการบริหาร หรือกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้วย