บรรดาสรรพวิชาการของชาวไทยนั้น ไม่ว่าจะศาสตร์หรือศิลป์แขนงใด ต่างยกย่องครูบาอาจารย์เป็นหลัก เมื่อจะทำการสิ่งไดก็จะต้องมีการไหว้ครู บูชาครูกันเสียก่อน ถือว่าเป็นการเคารพและระลึกถึงพระคุณครู เช่นเดียวกับวิชาการครัวของไทย ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนว่าการทำอาหารเข้าครัว ก็ต้องมีการไหว้ครูบาอาจารย์เช่นเดียวกัน
การไหว้ครูทางการครัวนี้ อาจจะไม่เป็นที่รู้จักของใครหลายๆ คน หรืออาจจะไม่เคยรู้มาก่อนเสียด้วยซ้ำว่าการทำอาหารเข้าครัวไทยต้องมีการไหว้ครูด้วย แต่เมื่อทาง "ห้องอาหารน้ำ" (nahm) โดยเชฟเดวิด ทอมป์สัน (David Thompson) และโรงแรมเมโทรโพลิแทน บายโคโม กรุงเทพฯ ได้ทำการจัด “พิธีไหว้ครูและครอบครูช่างปากศิลปคฤหวิทยา” ขึ้นมา ซึ่งเป็นพิธีไหว้ครูเกี่ยวกับการทำอาหาร ที่ทางเชฟเดวิด และทนงศักดิ์ ยอดหวาย ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าการเคารพครูบาอาจารย์ที่ได้มอบวิชาและตำราศาสตร์และศิลป์การทำอาหารไทยให้ตกทอดมายังคนรุ่นหลัง
ทั้งนี้เชฟเดวิดได้ศึกษาการทำอาหารไทยมาจากตำราเก่าๆ ที่ตกทอดมาและได้นำความรู้นั้นมาใช้ในการประกอบอาชีพ และเพื่อเป็นการบูชาพระคุณครูและแสดงความกตัญญูกตเวทิตาให้กับครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ได้นำวิชาการที่ได้รับมาใช้ จึงคิดจัด “พิธีไหว้ครูและครอบครูช่างปากศิลปคฤหวิทยา” ขึ้นมา ซึ่งคำว่า “ปากศิลป์” คือ ศิลปะที่ว่าด้วยการประกอบอาหารการทำครัว (คำว่าปากศิลป์ ได้ถูกพบอยู่ในตำราของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์) และคำว่า “คฤหวิทยา” คือ วิชาการเรือน ดังนั้น “ปากศิลปคฤหวิทยา” หมายถึง ศิลปะที่ว่าด้วยเรื่องของการปรุงประกอบอาหารและการเรือน
การทำ “พิธีไหว้ครูและครอบครูช่างปากศิลปคฤหวิทยา” นั้นทางวิชาการด้านโภชนาหารหรือปากศิลป์นั้นยังไม่ปรากฏว่าผู้ใดได้ทำเป็นตำราไหว้ครูเป็นเฉพาะ และวิชาการครัวนี้เป็นวิชาของเพศแม่ ดังปรากฏในตำราแม่ครัวหัวป่าก์โดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์เรียกว่า ”นารีเพศ” ซึ่งเป็นที่นับถือมาแต่โบราณแล้วว่าเป็นกำเนิดแห่งสรรพสิ่ง แม้เทพยดาสำคัญๆ ที่ชาวไทยนับถือก็ปรากฏเป็นเทวีโดยมาก ดังที่เห็นสมควรจะบูชาเป็นเฉพาะในวิชาการครัวไทยนี้ได้แก่ พระแม่โพสพ พระแม่คงคา พระแม่ธรณี ซึ่งการไหว้ครูทางการครัวนี้ก็ถือว่าเป็นการยกย่องสตรีเพศด้วยอีกประการหนึ่ง
สำหรับพิธีไหว้ครูและครอบครูช่างปากศิลปคฤหวิทยาที่ทางห้องอาหารน้ำจัดขึ้นครั้งล่าสุดในวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นครั้งที่สอง ภายในพิธีมีการทำบุญเลี้ยงพระ และต่อด้วยพิธีไหว้ครูและครอบครูช่างปากศิลปคฤหวิทยา โดยมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากแขนงวิชาต่างๆ มาเป็นผู้ประกอบพิธี อันได้แก่ ครูพิธีกร คือ ครูวรวินัย หิรัญมาศ ครูผู้ประกอบพิธีไหว้ครูช่างศิลปกรรม ตั้งแต่ปี 2538-ปัจจุบัน ครูผู้ครอบเครื่องคาวคือ ครูกอบแก้ว นาจพินิจ ครูผู้ครอบเครื่องหวาน คือ ครูสมพิศ วีระณะ และครูผู้ครอบเครื่องสด คือ ครูสมพร ยิ่งเจริญ
หลังจากนั้นจึงเริ่มทำพิธีไหว้ครูและครอบครูช่างปากศิลปคฤหวิทยา
โดยเริ่มจากการจุดธูปเทียนบูชาเทพยดา และบรรดาครูอาจารย์ทั้งหลายที่เคารพนับถือ จากนั้นผู้ประกอบพิธีอ่านโองการบูชาพระรัตนตรัย และเทพยดา แล้วก็ตามด้วยการอ่านโองการเชิญเทพเจ้าชั้นสูง 5 องค์ คือ พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระพรหม พระพิฆเนศวร และต่อด้วยอ่านโองการเชิญเทพเจ้าแห่งการช่างศิลปะ (พระวิษณุกรรม) และครูอาจารย์ท่านที่เป็นปูชะนียาจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว จากนั้นก็ทำการสรงน้ำเทวรูป พร้อมกับถวายเครื่องสังเวยเทพ และครู แล้วก็กล่าวขอพรเทพเจ้า และครู จากนั้นก็กล่าวคำลาเทพเจ้า และครู เป็นอันว่าเสร็จพิธีไหว้ครูและครอบครูช่างปากศิลปคฤหวิทยา
และในพิธีไหว้ครูและครอบครูช่างปากศิลปคฤหวิทยา จะต้องมีเครื่องสังเวยที่ถวายเทพเจ้าและครูอาจารย์ในงานไหว้ครูด้วย ซึ่งมีเครื่องสังเวยดังนี้ 1.เครื่องกระยาบวช ได้แก่ มะพร้าวอ่อน บายศรี กล้วยน้ำไท ขนมต้มแดง ขนมต้มข้าว ขนมเล็บมือนาง (คันหลาว) ขนมหูช้าง แกงบวช ถั่ว งา อ้อย นม เนย และหมากพลู ถวายข้าวมหาพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหมธาดา พระสหัมบดีพรหม โสฬสพรหมา พระขันธกุมาร พระพิฆเนศวร เทพเจ้าชั้นสูง 2.เครื่องมัจฉะมังสาหาร ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ หัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปลา ปู ไข่ ที่ปรุงสุกแล้ว ใช้ถวายเทวดา และครูอาจารย์มนุษย์
3.เครื่องผลาหาร ได้แก่ ผลไม้มงคลที่จัดหาได้ตามฤดูกาล เช่น กล้วยหอม สับปะรด แตงโม ส้ม แอปเปิล สาลี่ มะม่วง ชมพู่ องุ่น แต่ควรเว้นผลไม้ที่ชื่อมีความหมายที่ไม่เป็นมงคล เช่น มังคุด ละมุด พุทรา มะไฟ ลางสาด สำหรับผลไม้ที่เป็นมงคลนั้น เช่น กล้วยหอมมีความหมายมีลูกศิษย์ที่สืบทอดต่อกันไปมากมาย สับปะรดทำให้เป็นคนรอบรู้ มีหู ตาและวิสัยทัศน์กว้างไกลทุกทิศทุกทาง เป็นต้น และ 4. เครื่องคาวและเครื่องหวานตามสำรับต่างๆ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ก็จะอยู่ในมัจฉะมังสาหาร
และนอกจากการทำพิธีไหว้ครูแล้ว ยังมีการทำพิธีครอบโภชนาหารอีกด้วย ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีความน่าสนใจ โดยผู้ประกอบพิธี ทำพิธีเจิมหน้าให้ผู้เข้าร่วมพิธีพร้อมกับครูอาวุโสทางฝ่ายปากศิลปคฤหวิทยา จับมือครอบให้ลูกศิษย์ พร้อมทั้งอำนวยอวยพร ประสิทธิประสาทให้มีความเจริญ อยู่เย็นเป็นสุข รุ่งเรืองในกิจการงาน ประสบความสำเร็จทุกประการ
โดยในการทำพิธีการครอบครู ในครั้งนี้ มีรายละเอียดของการทำพิธีครอบครูอยู่ 3 ประการ คือ 1. ครอบครูอาหารเครื่องคาว ในพิธีนี้จะใช้ข้าวขวัญเป็นสัญลักษณ์ในการที่รับสืบทอดวิชาปากศิลป์ด้านอาหารคาว ซึ่งข้าวขวัญ เป็นอาหารที่ปรุงตามตำรับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
2. ทำการครอบครูอาหารเครื่องหวาน โดยในพิธีจะใช้การจับมือละเลงขนมเบื้องด้วยกระจ่า เป็นสัญลักษณ์ในการที่รับสืบทอดวิชาปากศิลป์ด้านอาหารหวาน ซึ่งขนมเบื้องของไทย ถือว่าเป็นการแสดงออกถึงฝีมือและกลเม็ดในการละเลงขนมเบื้อง ของสตรีในราชสำนัก โดยประเพณีไทยที่มีการครอบครู เช่น ดนตรีและนาฏยศิลป์ก็ต้องมีการจับมือ และท่าทางบรรเลงหรือรำเป็นการประสิทธิวิชา เฉกเช่นเดียวกันนี้การครอบครูเครื่องหวานจึงมีการจับมือถือกะจ่าละเลงขนมเบื้อง เพื่อเป็นปฐมในการฝึกหัดทำเครื่องหวาน
และ 3. มีการครอบครูอาหารเครื่องสด ซึ่งในพิธีนี้ใช้การจับมือพับใบตอง เป็นสัญลักษณ์ในการที่รับสืบทอดวิชาปากศิลป์ด้านเครื่องสด ได้แก่ บายศรี มาลัย ดอกไม้สด แกะสลัก ฯลฯ
เรียกว่าการทำ “พิธีไหว้ครูและครอบครูช่างปากศิลปคฤหวิทยา” ที่ทางห้องอาหารน้ำ โรงแรมเมโทรโพลิแทน บายโคโม กรุงเทพฯ จัดขึ้นนี้เป็นพิธีกรรมที่ทรงคุณค่า และควรคู่แก่การอนุรักษ์และสืบทอดต่อไปให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ ว่าศาสตร์และศิลป์แห่งการทำอาหารของไทยเรานั้น มีครูบาอาจารย์ให้เคารพและระลึกถึงบุญคุณของท่านเฉกเช่นเดียวกับศาสตร์และศิลป์แขนงอื่นๆ ของไทย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com