xs
xsm
sm
md
lg

เตือนพ่อแม่เปิดทีวีอยู่เป็นเพื่อนลูก ทำเด็กบกพร่องพัฒนาการภาษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิตแพทย์ชี้ เด็ก ม.1 อ่านไม่ออกเขียนไม่คล่อง เพราะพัฒนาการภาษาล่าช้า และไม่ได้กระตุ้นรักษาตั้งแต่เด็ก เหตุพ่อแม่คุยกับลูกน้อย แถมชอบเปิดทีวีอยู่เป็นเพื่อนลูก แนะสังเกตสมุดการบ้าน ยิ่งเละยิ่งต้องแก้ไข เตือนครูห้ามฝืนบังคับเด็กอ่านเขียนแบบเดิม ให้เน้นการอ่านแบบภาพ เผย ปี 57 เล็งทำคู่มือคัดกรองเด็กมีปัญหาพัฒนาการสำหรับครู
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความเป็นห่วงปัญหาเด็กไทย โดยเฉพาะเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่คล่อง ว่า ปัญหานี้แท้จริงแล้วเกิดจากการที่เด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้า แต่ไม่ได้รับการใส่ใจหรือแก้ปัญหาตั้งแต่เด็ก อย่างกรณีอ่านเขียนไม่คล่องนั้น เกิดจากการพัฒนาการล่าช้าด้านการเข้าใจภาษา ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่ไม่มีใครสื่อสารกับลูกตั้งแต่เด็ก เช่น พ่อแม่ต้องทำงานก็ปล่อยให้ลูกอยู่กับทีวี แม้แต่ตอนกลางคืนก็ไม่ได้มีการพูดคุยกับลูก ตรงนี้จะทำให้เด็กมีปัญหาการพัฒนาการด้านภาษา ดังนั้น พ่อแม่จะต้องหมั่นพูดคุยกับลูกบ่อยๆ อย่างก่อนนอนอาจจะเล่านิทานให้ลูกฟัง เพื่อฝึกทักษะด้านภาษาให้ลูก เป็นต้น ซึ่งการที่เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า ทำให้บางครั้งเขาไม่สามารถอ่านเขียนแบบเรียงบรรทัดได้

หากอยากทราบว่าเด็กมีปัญหาพัฒนาการด้านภาษาหรือไม่ ความจริงแล้วสามารถสังเกตได้ตั้งแต่เด็ก แต่สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเข้าวัยเรียนแล้ว สามารถสังเกตได้ตั้งแต่ประถมจากสมุดการบ้าน หากสมุดการบ้านเละ เขียนผิดๆ ตกหล่น ให้รีบแก้ไข แต่ส่วนใหญ่เมื่อเด็กอ่านเขียนไม่คล่อง ที่ผ่านมาครูมักจะคิดว่าเด็กไม่ตั้งใจเรียน ก็จะบังคับเขาให้อ่านหนังสือ บังคับให้เขียนจนกว่าจะได้เหมือนเพื่อนๆ ซึ่งการสอนแบบนี้จะไม่สามารถช่วยให้เด็กกลับมามีพัฒนาการที่เป็นปกติได้” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า การฝึกพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าสำหรับเด็กประถมหรือมัธยมนั้น ต้องฝึกให้เขาอ่านแบบภาพแทน ถ้าให้ฝึกจากการสะกดตัวอักษาเขาจะงง ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งจะมีการเปิดสอนสำหรับเด็กที่มีปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ทั้งหมด โดยจะเปิดห้องเรียนพิเศษเหมือนเรียนซ่อมเสริม แต่จะให้เด็กได้มาเรียนรู้ภาษาในลักษณะของสื่อการเรียนการสอนที่คล้ายกับการเล่นเกม ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้รับความสนุกด้วย

พญ.พรรณพิมล กล่าวด้วยว่า ในปี 2557 กรมสุขภาพจิตจะมีความร่วมมือกับ ศธ.เพื่อให้เด็ก ป.1 มีกระบวนการประเมินเพื่อหาเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า โดยจะทำคู่มือสำหรับครูโดยเฉพาะ เพราะที่ผ่านมามักพบว่าเด็ก ป.1 มีปัญหาออทิสติก 8% เด็กแอลดี 10% ซึ่งเมื่อรู้ได้ไวว่าเด็กมีปัญหาจะได้กระตุ้นพัฒนาการให้ถูกด้าน เด็กก็จะมีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้


กำลังโหลดความคิดเห็น