สอศ.เสนอเป็นตัวกลางประสานสถานประกอบการรายใหญ่รับผู้พิการเข้าทำงาน “ชัยพฤกษ์” ชี้ไม่ใช่การบีบ แต่ในกฎหมายแรงงานกำหนดไว้ชัดเจน บ.ที่มีพนักงาน 100 คนขึ้นไปต้องรับผู้พิการทำงานในสัดส่วน 100:1 เผย รมว.ศึกษาฯมอบการบ้านองค์กรหลักทำแผนพัฒนาการศึกษาพิเศษให้ได้ประโยชน์สูงสุด
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยภายหลังประชุม “หารือกำหนดนโยบาย การจัดการศึกษาพิเศษ” ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า รมว.ศึกษาธิการ ได้เรียกองค์กรหลักทั้ง 5 แท่ง มาหารือเพื่อกำหนดรายละเอียดการจัดการศึกษาพิเศษ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยประเด็นใหญ่ๆ ที่ รมว.ศธ.มอบการบ้านให้ทุกองค์กรหลักกลับไปหาแนวทาง คือ 1.ทำอย่างไรถึงจะผลิตครูสายการศึกษาพิเศษให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน และเพียงพอต่อความต้องการที่แท้จริง 2.ทำอย่างไรถึงจะให้ผู้พิการมีอาชีพที่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอิสระ หรือการทำงานในสถานประกอบการเพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และ 3.ทำอย่างไรให้ผู้พิการวัยเรียนทั่วประเทศที่มีอยู่เกือบ 1 ล้านคน แต่เข้ารับการศึกษาแค่ 340,000 คน โดยเรียนอยู่ในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น ได้มีโอกาสได้เรียนมากขึ้น และ 4.ทำอย่างไรให้ผู้พิการที่ไม่ได้อยู่ในวัยเรียน ได้รับการส่งเสริมให้ประกอบอาชีพได้
เบื้องต้นในเรื่องของอาชีพนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า จะประสานกับสถานประกอบการรายใหญ่ที่มีพนักงานเกิน 100 คน เพื่อส่งเสริมให้รับผู้พิการเข้าไปทำงาน ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่การบีบสถานประกอบการ เพราะกฎหมายแรงงานกำหนดไว้ว่าสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องพนักงานที่เป็นผู้พิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100:1 หากไม่มีต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี โดยคำนวณจากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคูณด้วย 365 และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงานทั้งหมดในประเทศในปัจจุบัน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ส่วนผู้พิการที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการเอง สอศ.จะส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ซึ่งรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะที่เป็นแกนหลัก จะจัดประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในวันที่ 19 ส.ค.นี้