xs
xsm
sm
md
lg

8 เทคนิคฝึกลูกกินอาหารมีประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
หากคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงอายุ 1-5 ปี อาจจะกำลังเจอกับปัญหา “แน่นอก” อยู่ในขณะนี้ เมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่สนใจอาหารและไม่เจริญอาหารเหมือนวัยทารก แต่ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะทีมข่าวคุณภาพชีวิต ASTVผู้จัดการออนไลน์ มีวิธี “ยกออก” ให้คุณพ่อคุณแม่ได้สบายใจกัน

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจสาเหตุกันก่อนว่า เหตุใดเบบี๋ของครอบครัวจึงไม่สนใจอาหารกัน นั่นเป็นเพราะเด็กช่วงอายุ 1-5 ปี จะมีความสนใจในด้านอื่นมาเกี่ยวข้อง เช่น การสำรวจสิ่งแวดล้อม และสนใจการเล่น รวมถึงจะเริ่มเลือกรับประทานแต่สิ่งที่เขาชอบ ดังนั้น การจะสร้างสุขนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหาร ผู้ปกครองจะต้องเริ่มจริงจังในระยะนี้ เพราะช่วงวัยนี้เด็กจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาสมองที่ไว หากได้สารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ จะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก มีระดับสติปัญญาไม่ดีเท่าที่ควร และเจ็บป่วยบ่อย

แล้วหลักในการให้อาหารลูกควรเป็นอย่างไร

คำตอบก็คือ ให้ลูกได้รับอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละหมู่ควรรับประทานให้หลากหลายชนิด จำนวนวันละ 3 มื้อ และให้ดื่มนมเป็นอาหารเสริม เพื่อให้ลูกได้รับปริมาณสารอาหารที่มีประโยชน์และนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่

สำหรับเทคนิคการสร้างสุขนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหาร มีทั้งหมด 8 เทคนิค ดังนี้

1.ให้อาหารที่มีปริมาณและคุณค่าที่เพียงพอกับความต้องการของเด็ก

2.ฝึกให้เด็กรับประทานอาหารที่แปลกใหม่จากที่เคยรับประทานมาก่อน เช่น ผัก มะเขือเทศ แต่ไม่ควรบังคับเด็ก ถ้าเด็กไม่ยอมรับประทาน เพราะจะทำให้เด็กไม่ชอบอาหารชนิดนั้น แต่ให้ใช้วิธีดัดแปลงวิธีการปรุงและรสชาติให้เด็ก จนเด็กยอมรับประทาน

3.ควรทำอาหารให้มีสีสันน่ารับประทาน

4.อาหารต้องรสชาติไม่จัด ไม่เค็ม ไม่หวาน ไม่เปรี้ยว

5.อาหารควรมีขนาดเล็ก อ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย

6.แบ่งมื้ออาหารเป็นหลายมื้อ ให้เด็กได้รับเพียงพอต่อความต้องการ

7.สร้างบรรยากาศการรับประทานอาหารที่ดี ไม่เครียด ไม่ดุบ่นว่า ไม่ทะเลาะเบาะแว้งระหว่างการรับประทานอาหาร

และ 8.ไม่นำอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารเหลือค้างมาให้เด็กรับประทาน

ทั้ง 8 เทคนิคนี้ถือว่าไม่ยากเกินไปสำหรับคุณพ่อและคุณแม่ แต่จำเป็นที่จะต้องมีความอดทนกับความดื้อของลูก และพลิกแพลงเมนูอาหารให้น่ารับประทานยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก เท่านี้ไม่ว่าจะอยากให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อะไรก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายเหมือพลิกฝ่ามือเลยทีเดียว

ขอบคุณข้อมูลจากคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง จัดทำโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข


กำลังโหลดความคิดเห็น