จิตแพทย์เผยอาการหายใจเร็ว ตบตี กรี๊ด อาละวาด ฆ่าตัวตายในละคร ล้วนสะท้อนปัญหาสุขภาพจิต แนะชีวิตจริงหากเกิดอารมณ์เครียด โกรธ ซึมเศร้า ควรพาตัวเองออกจากสถานการณ์เสี่ยง ด้านคนใกล้ชิดต้องช่วยเหลือหาทางออก จี้ผู้ปกครองสอนลูกดูละครอะไรควรทำไม่ควรทำ
รศ.นพ.เธียรชัย งามทิพย์วัฒนา หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ดูหนังดูละคร...แล้วย้อนมองดูตัว” ในกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตเรื่อง “จิตเวชศิริราช...ปันความรู้สู่ประชาชน” ว่า พฤติกรรมของตัวละครหลายเรื่องสะท้อนปัญหาสุขภาพจิตได้ในหลายประเด็น อย่างกรณีตัวละครกรีดร้อง หายใจเร็ว เหมือนหอบ จิกเกร็ง จนถึงขั้นสลบ เมื่อเวลาไม่ได้ดั่งใจ อิจฉา หรือเครียดนั้น อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการทางจิต แต่เป็นอาการทางกายที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อคนเรามีอารมณ์รุนแรงสามารถแสดงออกได้หลายอย่าง เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็ว (Hyperventilation syndrome) ซึ่งผู้ป่วยจะกลัวหายใจไม่เข้าแล้วเสียชีวิต จึงยิ่งพยายามหายใจก็ยิ่งเป็นมากขึ้น ตรงนี้ต้องตั้งสติก่อน โดยเฉพาะญาติหรือผู้ใกล้ชิดต้องรีบช่วยเหลือ หากไม่ใช่โรคหอบที่เมื่อหายใจไม่ออกตัวจะเขียว ก็ให้พยายามช่วยจัดท่าทางผู้ป่วย หรือพูดคุย เพื่อให้หายใจช้าลง ซึ่งส่วนใหญ่จะดีขึ้นได้เอง
นพ.ปเนต ผู้กฤตยคามี อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาที่พบเห็นบ่อยในละครอีกประเด็นคือ ความรุนแรงในครอบครัว เช่น ลูกขโมยเงินแม่แล้วถูกจับได้ แม่ก็เริ่มจากพูดไม่ดีก่อน สุดท้ายเมื่อใช้อารมณ์กันมากก็กลายเป็นการลงไม้ลงมือต่อกัน ซึ่งทั้งที่จริงแล้วมีหลายวิธีในการสื่อสารอย่างมีเหตุผล การดูละครที่มีความรุนแรงนั้นผู้ปกครองต้องใช้วิจารณญาณในการสอนลูกว่า การกระทำใดที่ดีสามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ หรือแบบใดที่ไม่ดี ก็ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าไม่ดีอย่างไร แล้วสิ่งที่ดีที่ควรต้องทำอย่างไร ทั้งนี้ ความรุนแรงมักมาจากอารมณ์โกรธ เพื่อต้องการแสดงออกว่าตนรับไม่ได้ ทนไม่ได้ และไม่พอใจ ซึ่งคนที่เริ่มมีอารมณ์โกรธต้องรู้จักสังเกตตนเองและระงับอารมณ์ เช่น หน้าแดง มือสั่น ก็ต้องพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นๆ ก่อนที่อารมณ์จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนควบคุมไม่ได้
“ทั้งความเครียดและความโกรธ ต้องแก้ไขด้วยการออกมาจากสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้เหล่านี้ โดยอาจหางานอดิเรกทำ หรือฝึกการหายใจเพื่อควบคุมอารมณ์ รวมไปถึงออกกำลังกาย ซึ่งจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยามักแนะนำเป็นประจำ หากอารมณ์กลับมาเป็นปกติแล้วก็จะช่วยให้พูดคุยด้วยเหตุผลมากขึ้น สามารถพิจารณาได้รอบด้านมากขึ้นว่าต้นเหตุของความเครียดเกิดจากอะไร และต้องแก้ไขอย่างไร ซึ่งอาจใช้วิธีปรึกษาเพื่อนหรือคนใกล้ชิดร่วมด้วยได้ ก็จะช่วยให้เห็นทางออกมากขึ้น” นพ.ปเนต กล่าว
นพ.ปเนต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการฆ่าตัวตายในละครที่พบเห็นได้บ่อยเช่นกัน ตรงนี้เกิดจากการกดดันจิตใจที่ค่อนข้างรุนแรง ทั้งแบบสะสมเรื้อรังจนเป็นโรคซึมเศร้าและแบบเกิดขึ้นกะทันหัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าพฤติกรรมผู้ที่จะฆ่าตัวตายเปลี่ยนไป เช่น จัดการปัญหาไม่ได้ ทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน มีการร่ำลาโดยไม่มีเหตุผล ญาติและคนใกล้ชิดต้องสังเกตเพื่อที่จะแก้ไขได้ทัน โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติทำร้ายร่างกายตัวเองหรือเคยฆ่าตัวตายมาก่อน ต้องช่วยเหลือโดยการเก็บอาวุธ ชวนพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา เป็นต้น สำหรับอาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ ไม่มีความสุข เสียใจ อารมณ์ตก รู้สึกแย่กับตัวเอง รู้สึกไม่ดีต่อสังคม เบื่อ ท้อแท้ กินน้อย น้ำหนักลด จนอาจกระทบกับการทำงาน หากญาติหรือผู้ใกล้ชิดเห็นอาการเหล่านี้จะต้องรีบช่วยเหลือ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ โดยใช้ยาปรับอารมณ์ ร่วมกับการให้คำปรึกษา ซึ่งเมื่อผู้ที่คิดฆ่าตัวตายเมื่อผ่านช่วงอารมณ์ที่ตั้งใจฆ่าตัวตายไปแล้วความตั้งใจก็จะลดลง จนไม่คิดฆ่าตัวตายอีก
นพ.ปเนต กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ รพ.ศิริราช มีเปิดให้บริการคลินิกคลายเครียด ที่ตึกผู้ป่วยนอกชั้น 7 เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนทั่วไปที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งไม่จำเพาะเพียงผู้ป่วยจิตเวชเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปที่มีเรื่องคิดมาก มีความเครียด หรือมีปัญหาในการใช้ชีวิตก็สามารถขอเข้ารับคำปรึกษาได้ รวมไปถึงแนะนำวิธีการช่วยจัดการความเครียดแบบต่างๆ เป็นต้น