xs
xsm
sm
md
lg

สธ.คุมเข้มไข้เลือดออก 24 จังหวัด เสนอใช้กฎหมายควบคุมยุงในบ้าน-ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ตั้งวอร์รูมคุมเข้มไข้เลือดออก เน้นหนักพื้นที่ 24 จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูง เสนอให้ท้องถิ่นใช้กฎหมายควบคุมยุงลายในบ้าน-ชุมชน ย้ำประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการที่ช่วงนี้มีฝนตกชุกในทุกพื้นที่ของประเทศ ทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์ได้เรื่อยๆ สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าแต่ละจังหวัดมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยลดลง พบผู้ป่วยประมาณ 5,500 ราย จากการประชุมวอร์รูมติดตามประเมินในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่ามี 24 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงกว่าที่อื่นๆ แสดงว่ามียุงเป็นพาหะที่มีเชื้อโรคไข้เลือดออกอาศัยอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เพชรบูรณ์ ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ กำแพงเพชร ระยอง ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม นครพนม เลย หนองคาย อุดรธานี นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ และสงขลา

นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า สธ.ได้ทำหนังสือสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดโดยเฉพาะพื้นที่ 24 จังหวัด ให้เพิ่มความเข้มข้นการเฝ้าระวังยิ่งขึ้น หากหมู่บ้านใดมีผู้ป่วยไข้เลือดออกรายใหม่ 3 สัปดาห์ติดต่อกัน จะต้องจับตาเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยให้ตั้งวอร์รูมเกาะติด วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์โรคทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.รณรงค์ลูกบ้านร่วมกันกำจัดลูกน้ำภายในบ้านและรอบๆ บ้านของผู้ป่วย รวมทั้งวัด โรงเรียน หรือบ้านเรือนใกล้เคียงที่อยู่ในรัศมี 10 หลังคาเรือนของบ้านผู้ป่วยด้วย และเสนอให้ท้องถิ่นใช้กฎหมายช่วยควบคุมยุงลายในบ้านและชุมชนอย่างถาวร ซึ่งจะทำให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2556 ยอดสะสมทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม-วันนี้ มี 93,034 ราย เสียชีวิต 86 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายร้อยละ 0.09 ผู้เสียชีวิตร้อยละ 50 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ต้องย้ำเตือนประชาชนทุกกลุ่มวัย นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งพระภิกษุและสามเณร หากมีอาการป่วย เป็นไข้สูง 1-2 วัน ไม่มีน้ำมูก ปวดท้อง อาเจียน หรืออุจจาระเป็นสีดำ ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที ส่วนการดูแลผู้ป่วยเมื่อแพทย์รับเข้าพักรักษาตัวแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตามมาตรฐาน ในรายที่มีอาการน่าสงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก แพทย์จะดำเนินการเจาะเลือด เพื่อตรวจดูปริมาณเกล็ดเลือดของผู้ป่วย และวาแผนดูแลรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ยุงลายที่เป็นตัวการเชื้อโรคไข้เลือดออก เป็นยุงลายที่มีชื่อว่าเอเดส อียิปไต (Aedes aegypti) ซึ่งเป็นยุงที่อยู่ใกล้ชิดคนมาก เมื่อยุงลายตัวเมียดูดเลือดคนที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งมักจะเป็นช่วงระยะที่มีไข้สูง ไวรัสจะเพิ่มตัวยุง และไปสู่กระเพาะ และเพิ่มจำนวนในเซลล์ผนังของกระเพาะ และเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เตรียมพร้อมจะปล่อยเชื้อไข้เลือดออกให้ผู้ที่ถูกกัดครั้งต่อไป ได้ตลอดอายุของยุงตัวเมีย ซึ่งจะมีชีวิตอยู่ได้ 30-45 วัน ฉะนั้นหากพื้นที่ใดมีผู้ป่วย ประชาชนจะต้องช่วยกันกำจัดยุงลายให้หมดไปโดยเร็วที่สุด

ขณะนี้ในบางพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ออกข้อบังคับในชุมชน ระบุหน้าที่ของประชาชน หรือผู้เป็นเจ้าของครอบครองสถานที่ จะต้องควบคุมป้องกันไม่ให้บ้านของตนเองเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เก็บกวาดดูแลบริเวณบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ไม่ให้มีขยะมูลฝอยที่อาจจะมีน้ำขังได้ทั้งในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือตรวจพบลูกน้ำในบ้าน จะถูกปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือไม่เกินหนึ่งพันบาทแล้วแต่กรณี และนำค่าปรับไปใช้พัฒนาชุมชนต่อไป มั่นใจว่าหากทุกชุมชนออกข้อบังคับในลักษณะนี้ มั่นใจว่าจะคุมไข้เลือดออกได้ดีขึ้น” นพ.ณรงค์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น