xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จเกี่ยวมรณภาพ ติดเชื้อในกระแสเลือดเคลื่อนศพ 9 โมงเช้าพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สมเด็จเกี่ยว วัดสระเกศ มรณภาพ ในวัย 85 ปี ติดเชื้อในกระแสเลือด เตรียมเคลื่อนสรีระจาก รพ.สมิติเวช วันพรุ่งนี้ (11 ส.ค.) เวลา 09.00 น.พร้อมเปิดให้ ปชช.สรงน้ำช่วงตั้งแต่บ่ายโมง เบื้องต้นคาดจะเริ่มจัดพิธีศพได้วันที่ 13 ส.ค.ด้าน ผอ.สำนักพระพุทธฯ ยกย่องเป็นพระนักพัฒนา และเป็นผู้วางรากฐานการเผยแผ่พุทธศาสนาในสหรัฐฯและยุโรป ขณะที่ตำแหน่งประธานผู้ปฏิบัติงานแทนสมเด็จพระสังฆราชต้องเลือกใหม่

วันนี้ (10 ส.ค.) นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้รับรายงานจากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มรณภาพแล้ว ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เมื่อเวลา 08.41 น.สิริรวมอายุ 85 ปี 6 เดือน เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดพิธีศพได้ประสานเบื้องต้นกับทางวัดสระเกศแล้ว คาดว่าจะเริ่มการจัดงานศพ ในวันที่ 13 สิงหาคม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเคลื่อนสรีระของสมเด็จพระพุฒาจารย์และจัดพีธีศพ
 
“คณะสงฆ์ไทยได้สูญเสียพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านถือเป็นพระนักพัฒนาผู้มุ่งมั่นที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก โดยเป็นผู้วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จนกระทั่งประสบผลสำเร็จในปัจจุบัน” นายนพรัตน์ กล่าว 
 
ด้าน พระวิจิตรธรรมมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ กล่าวว่า ทางวัดจะมีพิธีเคลื่อนสรีระสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในเวลา 09.00 น.ของวันที่ 11 สิงหาคม จากโรงพยาบาลสมิติเวช ไปยัง วัดสระเกศ หลังจากนั้นในช่วงเวลา 13.00 น.จะเปิดให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำ โดยคาดว่าจะมีพิธีน้ำหลวงสรงศพ ในช่วงเวลา 17.00 น.จากนั้นจะมีพิธีสวดพระอภิธรรม โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ป่วยด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตเข้ารับการตรวจรักษายังโรงพยาบาลสมิติเวชอย่างต่อเนื่องมากว่า 5 เดือน โดยครั้งล่าสุดสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณเดือนกว่าๆ และได้มรณภาพลงในที่สุด
พระพรหมสิทธิ(ธงชัย สุขญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้นำคณะสงฆ์วัดสระเกศเตรียมสถานที่ในศาลาการเปรียญ เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งศพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังได้มาจัดสถานที่ในการตั้งศพ  และเนื่องจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ มีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ จะได้รับพระราชทานโกศไม้สิบสอง พร้อมด้วยเครื่องประกอบเกียรติยศศพตามฐานันดรสมเด็จพระราชาคณะ พร้อมทั้งพิธีสวดพระอภิธรรมศพจะอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนจากนี้ไป มหาเถรสมาคม (มส.) จะต้องมีการคัดเลือกประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่รูปใหม่จากคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏรวม 7 รูป ได้แก่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปฺญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ (ธรรมยุต), สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ธรรมยุต), สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร (ธรรมยุต), สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร (ธรรมยุต), สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม, สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร จากนั้นเมื่อทาง มส.ได้ลงมติเลือกแล้ว ทาง พศ.จะส่งเรื่องรายงานให้ นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือกราบบังคมทูลฯเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯต่อไป  


ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) เป็นพระสงฆ์มหานิกาย ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เคยเป็นผู้รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช ปัจจุบันเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระเถระที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุดของมหาเถรสมาคม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี พ.ศ.2533 มีนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระพุฒาจารย์ ภาวนากิจวิธานปรีชา ญาโณทยวรางกูร วิบูลวิสุทธิจริยา อรัญญิกมหาปริณายก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

นามเดิม เกี่ยว โชคชัย เกิดวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2471 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง ณ บ้านเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตร 7 คน ของนายอุ้ยเลี้ยน แซ่โหย่ (เลื่อน โชคชัย) และนางยี (ยี โชคชัย) ครอบครัวทำสวนมะพร้าว ปัจจุบันสกุลโชคชัย หรือ แซ่โหย่ เปลี่ยนชื่อสกุลเป็นโชคคณาพิทักษ์

สำเร็จการศึกษาขั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ในปี 2483 แต่ก่อนจะถึงกำหนดวันเดินทางไปเรียนต่อยังโรงเรียนในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เด็กชายเกี่ยวเกิดมีอาการป่วยไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่าหากหายจากป่วยไข้จะให้บวชเป็นเณร ดังนั้น เมื่อหายป่วยจึงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ 6 มิถุนายน 2484 ที่วัดสว่างอารมณ์ ต.บ่อผุด โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์เป็นพระอุปัชฌาย์

ความตั้งใจเดิมคือบวชแก้บน 7 วัน แล้วจะสึกไปเรียนต่อ แต่เมื่อบวชแล้วก็ไม่คิดสึก โยมบิดามารดาจึงพาไปฝากหลวงพ่อพริ้ง (พระครูอรุณกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย ต่อมาหลวงพ่อพริ้งนำไปฝากอาจารย์เกตุ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร แต่ไม่นาน กรุงเทพฯ ประสบภัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลวงพ่อจึงรับตัวพาไปฝากอาจารย์มหากลั่น ต.พุมเรียง อ.ไชยา กระทั่งสงครามสงบจึงพา กลับไปที่วัดสระเกศ ฝากไว้กับพระครูปลัดเทียบ (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ)

ท่านศึกษาธรรมะจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และศึกษาปริยัติธรรม สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณร เมื่อมีอายุครบอุปสมบทก็ได้อุปสมบทในวันที่ 1 พฤษภาคม 2492 ที่วัดสระเกศ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้น พ.ศ.2497 ท่านสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค อันเป็นประโยคสูงสุด

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์โดยลำดับดังนี้

พ.ศ.2501 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระเมธีสุทธิพงศ์ พ.ศ.2505 เป็นพระราชาคณะ ชั้นราช ที่พระราชวิสุทธิเมธี
พ.ศ.2507 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์ พ.ศ.2514 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมคุณาภรณ์
พ.ศ.2516 เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จ) ที่พระพรหมคุณาภรณ์
พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่ออายุ 62 ปี
นอกจากนี้ เคยได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี 2508 ครั้นถึง พ.ศ.2516 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และ พ.ศ.2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคม

เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการประชวร และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2545 ทำให้เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคมจึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชในต้นปี พ.ศ.2547

ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวร โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน

สมเด็จพระพุฒาจารย์มีผลงานเขียนหนังสือหลายเล่ม ประกอบด้วย ธรรมะสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา, ดีเพราะมีดี, ทศพิธราชธรรม, วันวิสาขบูชา, การนับถือพระพุทธศาสนา, ปาฐกถาธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), โอวาทพระธรรมเทศนาและบทความสมเด็จพระพุฒาจารย์, การดำรงตน และคุณสมบัติ 5 ประการ
 



กำลังโหลดความคิดเห็น