xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : รับมืออย่างไร? เมื่อมีโชค - เคราะห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โลกธรรม ก็คือ สิ่งที่มีอยู่และเกิดขึ้นเป็นประจำตามธรรมดาของโลก โดยเฉพาะเหตุการณ์ผันผวนปรวนแปร ไม่แน่นอนต่างๆ ในทางดีบ้าง ร้ายบ้าง อย่างที่เราเรียกกันว่า โชคและเคราะห์ ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายจะต้องประสบตามกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง มนุษย์อยู่ในโลกก็จะต้องถูกโลกธรรมกระทบกระทั่ง

โลกธรรมมีอะไรบ้าง
1. ได้ลาภ
2. เสื่อมลาภ
3. ได้ยศ
4. เสื่อมยศ
5. สรรเสริญ
6. นินทา
7. สุข
8. ทุกข์


มนุษย์อยู่ในโลกนี้จะต้องถูกสิ่งเหล่านี้กระทบกระทั่ง และถ้าไม่รู้เท่าทัน ก็ถูกมันครอบงำ เป็นไปตามอิทธิพลของมัน เวลาพบฝ่ายดีที่ชอบใจก็ฟู เวลาเจอฝ่ายร้ายที่ไม่ชอบใจก็แฟบ พอได้ก็พอง แต่พอเสียก็ยุบ

ฟู ก็คือ ตื่นเต้น ดีใจ ปลาบปลื้ม ลิงโลด กระโดดโลดเต้น หรือแม้แต่เห่อเหิมไป

แฟบ ก็คือ ห่อเหี่ยว เศร้าโศก เสียใจ ท้อแท้ หรือแม้แต่ตรอมตรม ระทม คับแค้นใจ

พอง คือ ผยอง ลำพองตน ลืมตัว มัวเมา อาจจะถึงกับดูถูกดูหมิ่น หรือใช้ทรัพย์อำนาจข่มเหงรังแกผู้อื่น

ยุบ คือ หมดเรี่ยวแรง หมดกำลัง อาจถึงกับดูถูกตัวเอง หันเหออกจากวิถีแห่งคุณธรรม ละทิ้งความดี ตลอดจนอุดมคติที่เคยยึดถือ

ชีวิตในโลกก็เป็นอย่างนี้แหละ เราต้องยอมรับความจริงว่า เราอยู่ในโลก ย่อมไม่พ้นสิ่งเหล่านี้ เมื่อไม่พ้น จะต้องพบต้องเจอะเจอเกี่ยวข้องกับมัน ก็อย่าไปเอาจริงเอาจังกับมันจนถึงกับลุ่มหลงยึดเป็นตัวเราของเรา

ควรจะมองในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรจะปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง คือ อยู่ด้วยความรู้เท่าทัน ถ้าเรารู้เท่าทันแล้ว เราจะปฏิบัติต่อโลกธรรมเหล่านี้ได้ดี เป็นคนที่ไม่ฟูไม่แฟบ และไม่ยุบไม่พอง และยังเอามันมาใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย

ถ้าโชคมา ฉันจะมอบมันให้เป็นของขวัญแก่มวลประชา

ถ้าโลกธรรมฝ่ายดีที่น่าปรารถนาเกิดขึ้น แล้วเรารู้เท่าทัน และปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง โลกธรรมเหล่านั้นก็ไม่ก่อให้เกิดพิษภัยแก่เราและแก่ใครๆ ยิ่งกว่านั้น ยังกลายเป็นเครื่องมือสำหรับทำความดีงามสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นอีกด้วย

วิธีปฏิบัติต่อโลกธรรมฝ่ายดีที่สำคัญคือ
๑. รู้ทันธรรมดา คือ รู้ความจริงว่า เออ ที่เป็นอย่างนี้ มันก็เป็นของมีได้เป็นได้เป็นธรรมดาตามเหตุปัจจัย เมื่อมันมาก็ดีแล้ว แต่มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน ผันแปรได้นะ มันเกิดขึ้นได้ มันก็หมดไปเสื่อมไปได้

ยามได้ฝ่ายดีที่น่าชอบใจ จะเป็นได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุขก็ตาม เราก็ดีใจ ปลาบปลื้มใจ เรามีสิทธิ์ที่จะดีใจ แต่ก็อย่าไปมัวเมาหลงใหล ถ้าไปมัวเมาหลงใหลแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะกลับกลายเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของเรา แทนที่เราจะได้ประโยชน์ ก็กลับจะได้โทษ

ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี ที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ผันแปรได้นั้น มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เราจะต้องไม่ประมาท จะต้องป้องกันแก้ไขเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม และคอยเสริมสร้างเหตุปัจจัยที่จะให้มันมั่นคงอยู่และเจริญเพิ่มพูนโดยชอบธรรม

เฉพาะอย่างยิ่งเหตุปัจจัยสำคัญของความเสื่อมก็คือ ความลุ่มหลงมัวเมา ถ้าเรามัวเมาหลงระเริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็กลับเป็นโทษแก่ชีวิต เช่น คนเมายศ พอได้ยศ ก็มัวเมาหลงระเริง ดูถูกดูหมิ่นคนอื่น ใช้อำนาจข่มขี่ทำสิ่งที่ไม่ดี เบียดเบียนข่มเหงคนอื่นไว้ แต่สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง พอเสื่อมยศก็ย่ำแย่ ทุกข์ภัยก็โหมกระหน่ำทับถมตัว

๒. เอามาทำประโยชน์ คนที่รู้จักปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ก็มองว่า เออ ตอนนี้โลกธรรมฝ่ายดีมา ก็ดีแล้ว เราจะใช้มันเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์ทำความดี เช่น พอเราได้ยศ เรารู้ทันว่า เออ สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยงหรอก มันไม่ใช่อยู่ตลอดไป เมื่อมันมาก็ดีแล้ว เราจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ เราดีใจที่ได้มันมาทีหนึ่งแล้ว คราวนี้เราคิดว่า เราจะทำให้มันเป็นประโยชน์ เราก็ดีใจมีความสุขยิ่งขึ้นไปอีก

พอเราดีใจแต่เราไม่หลง เราก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์ เราอาจจะใช้ยศนั้นเป็นเครื่องมือหรือเป็นช่องทางในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในการสร้างสรรค์ความดีงาม ทำการสงเคราะห์บำเพ็ญประโยชน์ ก็กลายเป็นดีไป

ข้อสำคัญก็คือ เมื่อเรามีลาภหรือมีทรัพย์มียศศักดิ์ เกียรติ บริวาร ความดีและประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ต่างๆนั้น เราก็ทำได้มาก กลายเป็นว่าลาภและยศ เป็นต้น เป็นเครื่องมือและเป็นเครื่องเอื้อโอกาสในการที่จะทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่า ขยายประโยชน์สุขให้กว้างขวางมากมายแผ่ออกไปในสังคม ช่วยสร้างสรรค์ให้โลกนี้เป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า อัพยาปัชฌโลก คือ โลกแห่งความรักความเมตตา เป็นที่ปลอดภัยไร้การเบียดเบียนและมีสันติสุข แล้วก็ทำให้ตัวเราเองได้ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ ได้รับความเคารพนับถือที่แท้จริงด้วย ประโยชน์สุขระดับที่หนึ่งกลายเป็นบันไดก้าวขึ้นสู่ประโยชน์สุขระดับที่สอง

ลาภยศเป็นต้น เกิดแก่คนที่เป็นบัณฑิต มีแต่เป็นประโยชน์ เพราะเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แผ่ขยายกว้างขวางออกไปเกื้อกูลแก่สังคม และทำชีวิตให้พัฒนาขึ้น

แต่ถ้าทรัพย์และอำนาจเกิดแก่ผู้ที่ไม่รู้เท่าทัน มีความลุ่มหลงละเลิงมัวเมา ก็กลับกลายเป็นโทษแก่ชีวิตของตนเอง และเป็นเครื่องมือทำร้ายผู้อื่นไป ซึ่งก็เป็นผลเสียแก่ตนเองในระยะยาวด้วย

โลกธรรมอย่างอื่นก็เช่นเดียวกันทั้งนั้น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นสิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติให้ถูก หลักสำคัญก็คือ อย่าไปหลงละเลิงมัวเมา

ถ้าเคราะห์มา มันคือของขวัญที่ส่งมาช่วยตัวฉันให้ยิ่งพัฒนา

ในทางตรงข้าม ถ้าโลกธรรมฝ่ายร้ายเกิดขึ้นจะทำอย่างไร เมื่อกี้ฝ่ายดีเกิดขึ้น เราก็ถือโอกาสใช้ให้เป็นประโยชน์ ทำการสร้างสรรค์ ทำให้เกิดประโยชน์สุขแผ่ขยายออกไปมากยิ่งขึ้น

ทีนี้ถึงแม้ฝ่ายร้ายเกิดขึ้น คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกติฉินนินทา และประสบทุกข์ คนมีปัญญารู้เท่าทัน ก็ไม่กลัว ไม่เป็นไร เขาก็รักษาตัวอยู่ได้ และยังหาประโยชน์ได้อีกด้วย คือ

๑. รู้ทันธรรมดา คือ รู้ความจริงว่า สิ่งทั้งหลายก็อย่างนี้เอง ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ย่อมผันแปรไปได้ทั้งสิ้น นี่แหละที่ว่าอนิจจัง เราก็ได้เจอกับมันแล้ว เมื่อมีได้ ก็หมดได้ เมื่อขึ้นได้ก็ตกได้ แต่เมื่อหมดแล้วก็มีได้อีก เมื่อตกแล้ว ก็อาจขึ้นได้อีก ไม่แน่นอน มันขึ้นต่อเหตุปัจจัย ข้อสำคัญว่า มันเป็นการมีการได้และเป็นการขึ้น ที่ดีงาม ชอบธรรม เป็นประโยชน์หรือไม่ และเป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาหาเหตุปัจจัย และทำให้ถูกต้องต่อไป

เพราะฉะนั้น อย่ามัวมาตรอมตรมทุกข์ระทมเหงาหงอย อย่ามัวเศร้าโศกเสียใจละห้อยละเหี่ยท้อแท้ใจไปเลย จะกลายเป็นการซ้ำเติมทับถมตัวเองหนักลงไปอีก และคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยเราก็จะยิ่งแย่ไปใหญ่

เรื่องธรรมดาของโลกธรรมเป็นอย่างนี้ เราก็ได้เห็นความจริงแล้ว เรารู้เท่าทันมันแล้ว เอาเวลามาศึกษาหาเหตุปัจจัย จะได้เรียนรู้ จะได้แก้ไขปรับปรุง ลุกขึ้นมาทำให้ฟื้นตัวขึ้นใหม่ดีกว่า เมื่อรู้เท่าทัน อยู่กับความจริงอย่างนี้ เราก็รักษาตัว รักษาใจให้เป็นปกติ ปลอดโปร่งผ่องใสอยู่ได้ ไม่ละเมอคลุ้มคลั่งเตลิด หรือฟุบแฟบทำลายทำร้ายตัวเองให้ยิ่งแย่ลงไป

๒. เอามาพัฒนาตัวเรา คนที่เป็นนักปฏิบัติธรรม เมื่อความเสื่อม ความสูญเสีย และโลกธรรมฝ่ายร้ายทั้งหลายเกิดขึ้นแก่ตน นอกจากรู้เท่าทันธรรมดา มองเห็นความจริงของโลกและชีวิตที่เป็นอนิจจังแล้ว เขายังเอามันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

เขาจะมองว่า นี่แหละความไม่เที่ยงได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อมันเกิดขึ้นมาก็เป็นโอกาสที่เราจะได้ทดสอบตนเองว่า เรานี่มีความมั่นคงและความสามารถแค่ไหน ในการที่จะต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ เราจะเผชิญกับมันไหวไหม ถ้าเราแน่จริงเราก็ต้องสู้กับมันไหว และเราจะต้องแก้ไขได้ เพราะอันนี้เท่ากับเป็นปัญหาที่จะให้เราสู้ให้เราแก้ เราจะมีความสามารถแก้ปัญหาไหม นี่คือบททดสอบที่เกิดขึ้น

นอกจากเป็นบททดสอบแล้ว ก็เป็นบทเรียนที่เราจะต้องศึกษาว่า มันเกิดขึ้นจากเหตุอะไร เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อไปภายหน้า ถ้าเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ก็แสดงว่า เรามีความสามารถจริง ถ้าเราผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ปลอดโปร่งสวัสดีแล้ว ต่อไปเราก็จะมีความสามารถและจัดเจนยิ่งขึ้น

รวมความว่า คนที่ดำเนินชีวิตเป็น จะใช้ประโยชน์จากโลกธรรมฝ่ายร้ายได้ ทั้งในแง่เป็นเครื่องทดสอบจิตใจ และเป็นเครื่องพัฒนาปัญญา คือ ทดสอบว่าเรามีจิตใจเข้มแข็งมั่นคง แม้จะเผชิญเคราะห์ร้ายหรือเกิดมีภัย ก็ดำรงรักษาตัวให้ผ่านพ้นไปได้ ไม่หวั่นไหว และใช้ปัญญาเรียนรู้สืบค้นเหตุปัจจัย เพื่อจะได้แก้ไขและสร้างสรรค์เดินหน้าให้ได้ผลดียิ่งขึ้นต่อไป

ยิ่งกว่านั้น เขาจะมองในแง่ดีว่า คนที่ผ่านทุกข์ผ่านภัยมามาก เมื่อผ่านไปได้ ก็เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง คนที่ผ่านมาได้ ถือว่าได้เปรียบคนที่ไม่เคยผ่าน

นอกจากผ่านทุกข์ผ่านโทษผ่านภัยไปแล้ว ถ้ายิ่งสามารถผ่านไปได้ด้วยดีอีกด้วย ก็เป็นหลักประกันว่า ต่อไปไม่ต้องกลัวแล้ว เพราะแสดงว่า เราประสบผลสำเร็จแก้ปัญหาได้ เราจะมีชีวิตที่ดีงามเข้มแข็ง ไม่ต้องกลัวภัยอันตรายอีก ดีกว่าคนที่ไม่เคยเจอกับสิ่งเหล่านี้ พบแต่สิ่งที่เป็นคุณหรือสิ่งที่ชอบใจอย่างเดียว เป็นชีวิตที่ไม่ได้ทดสอบ

เป็นอันว่าถ้ามองในแง่ที่ดีงามแล้ว เราก็ใช้ประโยชน์จากโลกธรรมทั้งที่ดีและร้ายได้ทั้งหมด อย่างน้อยก็เป็นคนชนิดที่ว่าไม่เหลิงในสุข ไม่ถูกทุกข์ทับถม

ฉะนั้น ถ้าเราจะต้องเผชิญกับโลกธรรมที่ไม่ชอบใจ ก็ต้องมีใจพร้อมที่จะรับและสู้มัน ถ้าปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง เราก็จะผ่านสถานการณ์ไปด้วยดีและเป็นประโยชน์

เราจะมีความเข้มแข็ง ชีวิตจะดีงามยิ่งขึ้น แล้วตอนนั้นจะได้พิสูจน์ตัวเองด้วยว่า ถึงแม้ว่าเราจะมีประโยชน์สุขขั้นที่หนึ่งที่เป็นรูปธรรมหรือมีวัตถุเพียงเล็กน้อยนี้ เราจะสามารถอยู่ด้วยประโยชน์สุขขั้นที่สอง ด้วยทุนทางด้านความดีทางด้านจิตใจได้หรือไม่ แล้วก็ทดสอบยิ่งขึ้นไปอีก คือ ในระดับที่สาม ว่าเรามีจิตใจที่เป็นอิสระ สามารถที่จะอยู่ดีมีสุขโดยไม่ถูกกระแทกกระเทือนหวั่นไหวด้วยโลกธรรมได้ไหม

ถ้าจิตถูกโลกธรรมทั้งหลายกระทบกระทั่งแล้วไม่หวั่นไหว ยังสามารถมีใจเบิกบานเกษมปลอดโปร่ง ไม่มีธุลี ไร้ความขุ่นมัวเศร้าหมองผ่องใสได้ ก็เป็นมงคลอันสูงสุด มงคล ๓๘ ประการมาจบลงสุดท้ายที่นี่

พระพุทธศาสนาสอนหลักธรรมไปตามลำดับจนมาถึงข้อนี้ คือมีจิตใจที่เป็นอิสระ อย่างที่พระสงฆ์สวดในงานพิธีมงคลทุกครั้ง ตอนที่สวดมงคลสูตร มงคล ๓๘ จะมาจบด้วยคาถานี้ คือ

ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ
จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ
อะโสกัง วิระชัง เขมัง
เอตัมมังคะละมุตตะมัง


ผู้ใดถูกโลกธรรมทั้งหลาย(ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้าย) กระทบกระทั่งแล้วจิตใจไม่เศร้าโศกไม่หวั่นไหว เกษม มั่นคง ปลอดโปร่งได้ นั่นคือมงคลอันอุดม

ถ้าถึงขั้นนี้แล้ว ก็เรียกว่าเราได้ประสบประโยชน์สุขขั้นสูงสุด ชีวิตก็จะสมบูรณ์ อยู่ในโลกก็จะมีความสุขเป็นเนื้อแท้ของจิตใจ ถึงแม้ไปเจอความทุกข์เข้าก็ไม่มีปัญหา ก็สุขได้แม้แต่ในท่ามกลางความทุกข์

และคนที่ทำอย่างนี้ได้จะมีลักษณะชีวิตที่พัฒนาในด้านความสุข ซึ่งจะทำให้เป็นคนที่มีความสุขได้ง่าย

(จากส่วนหนึ่งของหนังสือ ชีวิตที่สมบูรณ์)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)





กำลังโหลดความคิดเห็น