xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : วงการสงฆ์สิ้นพระมหาเถระนักพัฒนาและเผยแผ่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 08.41 น. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้มรณภาพลงอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สิริอายุ 85 ปี 6 เดือน พรรษา 64

นับเป็นการสูญเสียพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีปฏิปทางดงามอีกรูปหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย

ชาติภูมิ-อุปสมบท

สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่า เกี่ยว โชคชัย เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2471 ณ บ้านเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวน 7 คน ของนายอุ้ยเลี้ยน แซ่โหย่ (เลื่อน โชคชัย) และนางยี (ยี โชคชัย) ครอบครัวทำสวนมะพร้าว

เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน เด็กชายเกี่ยวเกิดป่วยหนักอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่า หากหายจากป่วยไข้จะให้บวชเณร ดังนั้น เมื่อหายป่วยจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดภูเขาทอง

เจตนาเดิมของสามเณรเกี่ยว คือ บวชแก้บน 7 วัน จากนั้นก็จะลาสิกขาไปศึกษาต่อ แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว กลับไม่คิดจะสึกตามที่ตั้งใจไว้ โยมบิดามารดาจึงได้พาไปฝากกับหลวงพ่อพริ้ง (พระครูอรุณกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย

ต่อมาหลวงพ่อพริ้งได้นำสามเณรเกี่ยวไปฝากอาจารย์เกตุ ที่วัดสระเกศ กรุงเทพฯ แต่ไม่นาน กรุงเทพฯก็ประสบภัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลวงพ่อพริ้งจึงรับตัวสามเณรเกี่ยวไปฝากไว้กับอาจารย์มหากลั่น ต.พุมเรียง อ.ไชยา กระทั่งสงครามสงบจึงพากลับไปที่วัดสระเกศ โดยฝากไว้กับพระครูปลัดเทียบ (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ)

สามเณรเกี่ยวศึกษาธรรมและบาลีจนสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 5 ประโยค และอุปสมบทเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2492 ที่วัดสระเกศ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อ พ.ศ. 2497

สมณศักดิ์และตำแหน่งสำคัญในคณะสงฆ์

สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์ โดยลำดับ ดังนี้ พ.ศ. 2501 เป็น พระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระเมธีสุทธิพงศ์ พ.ศ. 2505 เป็น พระราชาคณะ ชั้นราช ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พ.ศ. 2507 เป็น พระราชาคณะ ชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์ พ.ศ. 2514 เป็น พระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมคุณาภรณ์

พ.ศ. 2516 เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ (เป็นรูปที่ 3 ในประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับสถาปนาแต่งตั้งขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะขณะที่มีอายุไม่ถึง 50 ปี) พ.ศ. 2533 เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์

ตลอดชีวิตที่ผ่านมาในร่มกาสาวพัสตร์ เจ้าประคุณสมเด็จฯ มีจริยาวัตรและปฏิปทาที่งดงาม เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ท่านได้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในคณะสงฆ์ อาทิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะอนุกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.ภ.) ประธานคณะกรรมการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ฯลฯ

คุณูปการต่อพระพุทธศาสนา

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ได้สร้างคุณูปการให้แก่วงการพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย อาทิ เป็นกรรมการพิเศษแผนกตรวจสำนวนแปลวินัยปิฎก ฉบับปี 2500 เป็นรองประธานสภาสงฆ์แห่งโลก เป็นประธานกรรมาธิการ สังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในมหามงคลสมัยพระชนมพรรษา 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เป็นประธานคณะกรรมการจัดการชำระและพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎก เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 สิงหาคม 2535 เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของมหาเถรสมาคม และเป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัยของคณะสงฆ์

รวมทั้งท่านยังได้มีบัญชาให้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ โครงการพระธรรมทูตอาสา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือวัด และผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมของคณะสงฆ์ เป็นต้น

แต่เหนืออื่นใด สมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นพระมหาเถระที่ปรารถนาจะเห็นพระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปทั่วโลก เพื่อเกื้อกูลแก่ชาวโลก โดยท่านได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆทั่วทุกมุมโลก เพื่อการศาสนสัมพันธ์และหาแนวทางที่จะให้มีวัดไทยในประเทศนั้นๆ

ดังที่ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้กล่าวว่า

“สมเด็จพระพุฒาจารย์ถือเป็นพระนักพัฒนาผู้มุ่งมั่นที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก โดยเป็นผู้วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกา และยุโรป จนกระทั่งประสบผลสำเร็จในปัจจุบัน"

การสร้างวัดไทยในต่างประเทศนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้วางเป็นแนวทางการสร้างวัดสำหรับพระธรรมทูตไว้ว่า

“พระสงฆ์ไปปฏิบัติงานประเทศใด ต้องใช้เงินของประเทศนั้นสร้างวัด เพราะถ้าจะเอาเงินไทยไปสร้างวัดในต่างประเทศ เราจะต้องเอาเงินบาทออกนอกประเทศเท่าไรจึงจะสร้างวัดได้วัดหนึ่ง ค่าเงินบาทกับเงินต่างประเทศแตกต่างกันมาก พระสงฆ์ที่ไปอยู่ต่างประเทศจึงต้องเก่งและมีความอดทนสูง”

นอกจากนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ยังมีผลงานเขียนหนังสือหลายเล่ม ประกอบด้วย ธรรมะสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา, ดีเพราะมีดี, ทศพิธราชธรรม, วันวิสาขบูชา, การนับถือพระพุทธศาสนา, ปาฐกถาธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), โอวาทพระธรรมเทศนา และบทความสมเด็จพระพุฒาจารย์, การดำรงตน และคุณสมบัติ 5 ประการ เป็นต้น

พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ ทุกคืน เวลา 19.00 น. ณ ศาลาการเปรียญ ตำหนักสมเด็จฯ วัดสระเกศราชวรวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ โดยกำหนดตั้งบำเพ็ญกุศล 100 วัน นับจากวันที่ 19 สิงหาคม 2556 เป็นต้นไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย กองบรรณาธิการ)




กำลังโหลดความคิดเห็น