คนไข้ที่สุขภาพร่างกายไม่ดี เจ็บไข้ได้ป่วย ถูกโรคซึ่งทางพระเรียกว่า “อาพาธ” เบียดเบียน เมื่อกายอาพาธ จิตใจก็มักจะไม่สบายไปด้วย พอจิตใจไม่สบาย ก็เกิดปัญหาข้างในหลายอย่าง เช่น ท้อแท้ หดหู่ เซื่องซึม เหงาหงอย เบื่อหน่าย เป็นต้น
บางทีถึงกับเครียด คับแค้นใจ หมดหวัง สิ้นหวัง ฯลฯ เหล่านี้เราถือว่า เป็นสภาพจิตที่ไม่ดี เป็นความป่วยทางจิตใจ...
กายถูกกระทำอย่างเดียว ทำไมให้ใจถูกกระทำด้วย
ความจริง เมื่อคนไข้ถูกโรคภัยไข้เจ็บโจมตีทางร่างกายนั้น ก็บอบช้ำไปด้านหนึ่งแล้ว เรียกว่า ถูกกระทำทางด้านร่างกาย คือร่างกายถูกโรคมันทำเอา
แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นมาว่า ทั้งที่ความจริงนั้น โรคไม่ได้ไปทำอะไรกับใจของเขาเลย ใจของเขาก็อยู่เป็นปกติ แต่กลายเป็นว่า ด้านที่ถูกกระทำมากที่สุด กลายเป็นจิตใจ พอกายถูกกระทำแล้ว ใจก็พลอยถูกกระทำด้วย
ถึงแม้จะมีการรักษาที่ดี คุณหมอมารักษา และผู้ป่วยเองก็ร่วมมือช่วยกันจัดการแก้ไขบำบัดโรค ตอนนี้ด้านร่างกายที่ถูกกระทำถูกโรคเข้ามาโจมตีนั้น เราไม่ใช่ถูกโรคมันทำเอาฝ่ายเดียว เรากำลังกลับเป็นฝ่ายกระทำต่อมันแล้ว แต่หันมาดูที่ตัวคนไข้ แทนที่จะพลิกตัวขึ้นมาเป็นฝ่ายกระทำด้วย ปรากฏว่าจิตใจก็ยังถูกกระทำอยู่ ไม่ดีขึ้นมาเลย
ปัญหาสำคัญของเรื่องสุขภาวะที่ตรงนี้ ก็คือ คนทำตัวให้เป็นผู้ถูกกระทำไปเสีย ใจพลอยไปถูกกระทำ เหมือนกับที่กายได้ถูกกระทำ แล้วใครทำล่ะ ก็ตัวนั่นแหละทำเสียเอง เพราะฉะนั้น ต้องจับจุดนี้ให้ได้ คือ อย่าให้ใจถูกกระทำ แม้แต่แค่เป็นฝ่ายตั้งรับก็ไม่เอา อย่าทำอย่างนั้น เราต้องเป็นผู้กระทำต่อมัน
จริงๆนะ ใจเรายังเป็นอิสระอยู่ เราเพลี่ยงพล้ำไปบ้าง ก็ด้านเดียวเท่านั้น อีกด้านหนึ่งยังเป็นของเราเต็มที่ ต้องวางท่าทีให้ถูก
ขณะนี้ร่างกายของเราถูกโรคกระทำแล้ว เราก็พลิกตัวขึ้นมาเป็นผู้กระทำต่อโรค ทางกายก็หันไปทำต่อมัน คือทำการบำบัดรักษา และทางใจที่เป็นอิสระอยู่ก็ช่วยให้กำลังเสริมเข้าไป แล้วยังมีปัญญาซึ่งสำคัญที่สุดอีกตัวหนึ่ง เอาปัญญานั้นมาใช้หาทางเป็นฝ่ายกระทำให้ได้ผลดีที่สุด
จุดสำคัญข้อแรกก็คือ เรายอมตัวเป็นผู้ถูกกระทำ หรือทำตัวเราให้เป็นผู้ถูกกระทำเสียเอง จึงเสียท่า เสียกระบวนไปหมด
เพราะฉะนั้น ต้องคอยนึกไว้ คือมีสติบอกตัวเองไว้ ไม่ว่าต่อเรื่องอะไร เราต้องเป็นผู้กระทำ อย่าปล่อยตัวลงไปให้ถูกกระทำ ถ้าเราผันตัวขึ้นมาเป็นผู้กระทำได้ สุขภาวะด้านจิตใจจะมาเองเลย
พอเจอกับสถานการณ์ ดูท่าชักจะไม่ดี สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือต้องได้สติตั้งหลักและรู้ตัวขึ้นมาเลยว่า นี่ทำไมเอาตัวของเราไปเป็นผู้ถูกกระทำเสียล่ะ อย่าทำตัวเองอย่างนั้น หยุด.. แล้วตั้งตัวขึ้นมาเป็นผู้กระทำซะ
อย่างน้อย เมื่อโรคมันกระทำต่อกายของเรา ใจของเราอย่าถูกกระทำไปด้วย ถึงตอนนี้ เราก็เริ่มหันมาเป็นผู้กระทำต่อโรค พอเริ่มเป็นผู้กระทำ เราก็เข้มแข็งมีกำลังขึ้นมาทันที
ถ้าเป็นผู้ถูกกระทำ เราก็ยอบแยบ อ่อนแอ ป้อแป้ ปวกเปียก แล้วก็จะมีแต่จะถอย จะแพ้ จะสูญเสีย และจะหมด จะสิ้น เราจึงต้องเป็นผู้กระทำต่อโรค
ใช้ปัญญาพลิกฟื้นใจให้เป็นผู้กระทำ
วิธีกระทำต่อโรคมีหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ใช้ปัญญาพิจารณาว่า ตอนนี้ร่างกายของเราเป็นอย่างนี้ เป็นโรคนี้ และโรคนี้มันมีธรรมชาติของมันอย่างนี้ มีแนวมีทางของมันอย่างนี้ เราควรจะดำเนินชีวิตแบบไหน อย่างไร จึงเหมาะกับมัน จึงจะอยู่กับมันได้ดีที่สุด
แล้วก็ปรับตัวปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับโรค ให้มันทำต่อเราได้ยากหรือได้น้อยที่สุด และเราก็อยู่ในภาวะที่จะทำต่อมันได้ดีที่สุด ปรับตัวจนถึงขั้นเอาประโยชน์จากการเป็นโรคนั้นให้ได้ เอาให้ถึงขั้นนั้นเลย
อย่างบางคนปรับสภาพการดำเนินชีวิตของเขาว่า ตอนนี้งานอย่างนี้เราทำไม่ได้ เราก็หันไปหางานอย่างอื่นที่ทำได้ บางคนอาจไปทางดนตรี ไปทางศิลปะ ไปทางค้นคว้าหาความรู้ หรือมีงานอดิเรก อาจจะเป็นเรื่องที่อยู่กับธรรมชาติ เช่น ปลูกต้นไม้ ทำอะไรต่างๆ หรือศึกษาธรรม พัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา ให้เจริญงอกงามมีความสุขลึกซึ้งภายใน มีอะไรทำได้เยอะแยะไป...
เพราะฉะนั้น คนเจ็บไข้ไม่ได้เสียเปรียบ ให้สบายใจไว้เลย ขอให้ตั้งหลักไว้ว่า เราต้องเป็นผู้กระทำ ถ้ามองว่าเราเป็นผู้กระทำ ก็จะมีแรงขึ้นมาทันที สุขภาวะก็จะมา แล้วก็มีประโยชน์หลายอย่างที่เราจะทำได้
นอกจากปรับตัวปรับวิถีชีวิตเข้ากับมันแล้ว ก็หาประโยชน์จากมัน ทำประโยชน์แก่ชีวิตในตอนนั้นให้ได้ อย่างน้อยก็ศึกษามัน เราเป็นโรคอะไร ก็ศึกษามัน ดูมัน แค่ดูมัน เราก็เป็นผู้กระทำแล้ว
เหลียวดูคนอื่นที่เขาทุกข์กว่า จะเห็นว่าทุกข์ของเราเล็กลงไป
วิธีคิด วิธีมอง ก็เป็นเรื่องสำคัญ คนที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ บางทีก็ไปหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับเรื่องตัวเองว่า เราแย่แล้ว นี่เราจะเป็นอย่างไรต่อไป เราจะไม่มีชีวิตที่ดี เราจะมีแต่ความทุกข์ เราจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ก็คือมัวไปหวาดกลัว มัวแต่ท้อแท้ มัวหมดหวัง มัวแต่เสียใจ ก็เลยมองเห็นแต่เรื่องทุกข์และเรื่องร้าย แล้วก็จมอยู่ในนั้น
แต่ความจริง ถ้ามองให้ดี เหลียวดูทางอื่นบ้าง มองให้กว้างออกไป ก็จะเห็นว่า ที่เราเป็นโรคนี้นั้น เรามีฐานะอย่างนี้ อยู่ในภาวะอย่างนี้ ยังขนาดนี้ แล้วคนอื่นอีกไม่น้อยเลยที่เป็นโรคอย่างเรานี้ คนที่เขายากจนแร้นแค้น ไม่มีเงินจะใช้จ่ายในยามจำเป็น ไม่มีญาติมิตรดูแล เขาป่วยอย่างนี้จะทำอย่างไร จะยิ่งแย่ขนาดไหน
พอมองดูให้ทั่วๆออกไป กลายเป็นว่า ความเจ็บป่วยของเรานี่เรื่องเล็กแล้ว คนอื่นที่เขาทุกข์ยิ่งกว่าเรามีเยอะแยะ
ทีนี้ ก็คิดสงสารคนอื่น กลายเป็นว่า โรคภัยมาเตือนเรา ให้เราคิดสงสารเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ให้รู้จักมอง รู้จักเหลียวแลดูทุกข์ภัยของมนุษย์ทั้งหลาย นอกจากว่าเราจะได้ไม่ประมาทแล้ว ก็คิดหาทางว่าจะช่วยเหลือเขาอย่างไร ต่อไปถ้าเราหายจากโรค เราจะต้องไปช่วยคนอื่นเป็นการใหญ่
คิดอย่างนี้ก็เลยกลายเป็นบุญเป็นกุศล บางทีก็เลยหายโรคไป แทบไม่รู้ตัว
อย่างน้อย ถึงแม้ตัวเองจะมีโรคภัยมาก ยากจน ไม่มีทรัพย์ ไม่มีฐานะอะไร ก็ยังมองเห็นได้ว่า คนที่อยู่ในภาวะที่แย่กว่าเรายังมีอีก
เพราะฉะนั้น อย่าไปมัวครุ่นคิดแต่เรื่องของตัวเองอยู่เลย การครุ่นคิดแต่เรื่องตนเอง มีแต่จะทำให้ยิ่งทุกข์ ยิ่งเลวร้ายไปกันใหญ่
(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของหนังสือฟื้นสุขภาวะ ยามสังคมวิกฤต)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)