xs
xsm
sm
md
lg

ไปดู ร.ร.ปทุมเทพวิทยาคาร พัฒนาเด็กเข้าสู่เออีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย..เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการเตรียมพร้อมพัฒนาคนเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้เต็มภาคภูมิ ซึ่งการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะยกระดับศัยภาพคนได้อย่างแท้จริง ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้จัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษานำร่องในสถานศึกษาทั่วประเทศ 26 ศูนย์ แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 11 ศูนย์ และสำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 15 ศูนย์ ซึ่งศูนย์อาเซียนศึกษาเหล่านี้ไม่เพียงแต่ให้ความรู้แก่นักเรียนเท่านั้น แต่ยังเปิดประตูรับสตรีในพื้นที่ที่ต้องการเติมเต็มความรู้ ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษก็ดี หรือภาษาอาเซียนก็ดีมาเรียนรู้ที่แห่งนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ.พร้อมด้วย นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการ กพฐ.และคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์อาเซียนศึกษาและติดตามการดำเนินการจัดสอนภาษาอังกฤษในหลักสูตร Emglish Program : EP และ Mini EP ณ โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จ.หนองคาย ซึ่งเป็น 1 ใน 11 โรงเรียนนำร่องที่ในโอกาสนี้ได้เปิดบ้านจัดมหกรรมวิชาการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ EP/MEP ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2556 ซึ่งบรรยากาศของงานนอกจากการแข่งขันวิชการ แข่งประกวดร้องเพลงภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีนิทรรศการนำเสนอเรื่องราวในด้านวัฒนธรรม อาหาร ภาษาและการแต่งกายของ 9 ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน (ไม่รวมไทย) ให้นักเรียนได้เรียนรู้ซึ่งเด็กจะได้รับสมุดจดหนึ่งเล่มและบันทึกข้อมูลที่เขาได้เรียนรู้ลงในนั้นด้วยภาษาอังกฤษ

โดย นายชัยรัตน์ หลายวัชระกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จ.หนองคาย กล่าวว่า โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร นั้นเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษและเป็นโรงเรียนประจำ จ.หนองคาย ซึ่งได้รับเลือกเป็น ศูนย์อาเซียนศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบการส่งเสริมการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับอาเซียนให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัด เนื่องจากมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร สื่อการเรียนการสอน ซึ่งส่วนตัวมองว่าเวลานี้ไม่ใช่เพียงแต่การเตรียมคนเข้าสู่อาเซียนเท่านั้น แต่ต้องเตรียมเมืองเข้าสู่การเป็นสากลด้วย เพราะฉะนั้นโรงเรียนได้เปิดสอน 5 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (Talented Program) หลักสูตรความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน (Gifted Program) หลักสูตรอิงลิชโปรแกรม (EngLish Program) หลักสูตรนานาชาติ (International Program) และหลักสูตรมาตรฐานสากล (World Class Standard School) โดยออกแบบให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

“เรื่องการส่งเสริมด้านภาษานอกจากภาษาอังกฤษที่เน้นย้ำพิเศษแล้ว ยังมีภาษาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี ลาว และเวียดนาม สอนให้แก่นักเรียนโดยมีครูเจ้าของภาษาถึง 35 คนเป็นผู้สอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.หนองคาย ใกล้เพื่อนบ้านอย่างประเทศเวียดนาม เราซึมซับและเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกันมายาวนานเพราะฉะนั้น ที่โรงเรียนก็ได้รับการสนับสนุนครูจากสมาคมเวียดนามแห่งประเทศไทย มาสอนและอนาคตจะมีการแลกเปลี่ยนนักเรียนของโรงเรียนปทุมเทพฯ กับโรงเรียนของประเทศเวียนดนามด้วย ”นายชัยรัตน์ กล่าว

ขณะที่ โดย นางเบญจลักษณ์ ระบุว่า สพฐ.ตั้งเป้าหมายให้นักเรียนแต่ละระดับชั้น มีความรู้และความพร้อมเกี่ยวกับอาเซียนแตกต่างกัน โดยในระดับชั้นประถมจะต้องรู้ข้อมูลพื้นฐาน เช่น อาเซียนคืออะไร ประกอบไปด้วยประเทศใดบ้าง ธงประจำชาติ และเครื่องแต่งกาย ในระดับมัธยมศึกษาต้องรู้จักและสื่อสารภาษาอาเซียนได้อย่างน้อย 1 ภาษา เป็นต้น ซึ่งในมาตรฐานอาเซียนกำหนดชัดว่าโรงเรียนขั้นพื้นฐานของทุกแห่งใน 10 ประเทศอาเซียนจะต้องเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องเหล่านี้ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างประเทศอาเซียนและเชื่อมโยงไปยังโลกได้อย่างเข้มแข็ง

“ศูนย์อาเซียนศึกษาทุกแห่งนอกจากจะดูแลด้านภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาอาเซียนแล้ว ยังเน้นให้ความรู้ด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศในอาเซียน ขณะเดียวกัน ศูนย์แห่งนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากเด็กไปสู่พ่อแม่ของเด็กด้วย”นางเบญจลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย


นายชัยรัตน์ หลายวัชระกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น