6 ประเทศลุ่มน้ำโขงเล็งตั้งกลุ่มทำงานร่วมด้านสุขภาพ ชี้ไม่ใช่แค่ปัญหาระดับท้องถิ่น แต่เป็นปัญหาระดับภูมิภาค หวั่นไม่มีการป้องกันจะกลายเป็นปัญหาระดับโลก ทั้งภาวะดื้อยามาลาเรีย เอชไอวี อุบัติเหตุ ด้าน สธ.ไทยเตรียมแนะสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ พร้อมรับแพทย์ประเทศเพื่อนบ้านฝึกรักษาต่างด้าวตามแนว รพ.ชายแดน
วันนี้ (7 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กทม. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการอภิปรายและแนวทางการดำเนินงานต่อในอนาคต ในการประชุมสาธารณสุขแนวชายแดนในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง จัดโดยองค์การอนามัยโลก ว่า ประเทศไทยได้เสนอให้มีการทำงานร่วมกันด้านสุขภาพระดับภูมิภาค โดยอนุภาคกลุ่มลุ่มน้ำโขงมีด้วยกัน 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ไทย และจังหวัดยูนนาน ประเทศจีน เนื่องจากปัญหาสุขภาพชายแดนไม่ใช่ปัญหาท้องถิ่นภายในประเทศแล้ว แต่เป็นปัญหาระดับภูมิภาค หากไม่มีการป้องกันก็จะเป็นปัญหาสุขภาพในระดับโลก เช่น ภาวะดื้อยามาลาเรีย การติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค ปัญหาอนามัยแม่และเด็ก เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งจะมีประชากรเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลให้ปัญหาสาธารณสุขตามแนวชายแดนมีความรุนแรงขึ้น ทั้งโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อุบัติเหตุจราจร รวมทั้งอาหารและผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ
“การจัดให้มีระบบสุขภาพในแต่ละประเทศเป็นสิ่งสำคัญ หากสามารถทำได้จะเกิดความยั่งยืน ไทยจึงเสนอว่าควรจะมีการรวมตัวเป็นกลุ่มขึ้นมารับผิดชอบ เพราะถ้าทำเพียงระดับพื้นที่ต่อพื้นที่ เจ้าหน้าที่อาจจะขาดกำลัง ขาดอำนาจการตัดสินใจ โดยจะมีทางเอเชียนเดเวลลอปเมนต์แบงก์สนใจที่จะมาเป็นเลขาฯให้ทางกลุ่ม รวมถึงมีกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่จะมาร่วมกันสนับสนุน เช่น ธนาคารโลก โดยจะมีการตั้งวัตถุประสงค์ว่าจะดำเนินการอย่างไรในแต่ละระยะ” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินงาน จะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1.สร้างระบบบริการสุขภาพและพัฒนาบุคลากร เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้านสาธารณสุขต่างๆ โดยจะรับแพทย์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาฝึกรักษาคนต่างด้าวบริเวณโรงพยาบาลตามแนวชายแดนและฝึกอบรม 2.สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยตั้งสถานีอนามัย หน่วยบริการปฐมภูมิในประเทศเพื่อนบ้านตลอดแนวชายแดนไทย ระบบส่งต่อในชุมชน รวมถึงพัฒนาบุคลากรโดยการตั้งศูนย์ฝึกอบรมแพทย์ พยาบาล ห้องปฏิบัติการ และการดูแลรักษาโรคต่างๆ และพัฒนาโรงพยาบาลที่มีอยู่เพื่อให้บริการระดับทุติยภูมิ และ 3.การระบุสิทธิประโยชน์หลักและพัฒนารูปแบบระบบการเงินด้านสุขภาพ เพื่อเริ่มต้นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยไทยพร้อมจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังด้านสุขภาพ เพื่อร่วมทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านและองค์กรนานาชาติอื่นๆ เพื่อให้ได้รูปแบบหลักประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับริบทของภูมิภาค ทั้งนี้ การกำหนดสิทธิประโยชน์จะช่วยในเรื่องการคำนวณแหล่งที่มาของเงิน การเก็บเงินจะมาจากภาษีหรือการร่วมจ่าย
“การจะเดินหน้าระบบหลักประกันฯ จะต้องมีบุคลากรและสถานพยาบาลให้พร้อม เพราะถ้าโครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อมก็จะสร้างระบบหลักประกันฯขึ้นไม่ได้ ซึ่งข้อมูลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยให้รัฐบาลของแต่ละประเทศนำไปใช้ตัดสินใจในระดับชาติได้ว่าควรมีระบบหลักประกันฯอย่างไร ซึ่งไทยก็พร้อมช่วยเหลือร่วมกับธนาคารโลก ซึ่งจะสนับสนุนด้านทรัพยากรต่างๆ ในการสร้างสถานีอนามัย และโรงพยาบาลต่างๆ” รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า การดำเนินงานเหล่านี้จะเริ่มต้นทันที แต่กว่าจะพัฒนาบุคลากร สร้างหน่วยปฐมภูมิซึ่งทำคู่ขนานก็ใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี การตั้งโรงพยาบาลระดับสูงก็อีกกว่า 4-5 ปี