xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “เอช.ไพโลไร” แบคทีเรียตัวร้ายก่อมะเร็งกระเพาะอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอช.ไพโลไร (H. pylori) เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก มีผู้ติดเชื้อแบคทีเรียนี้มากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย โดยปี 2537 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้การติดเชื้อ เอช.ไพโลไร เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

สำหรับประเทศไทยพบมีการติดเชื้อ เอช.ไพโลไร ถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 20 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งการติดเชื้อชนิดนี้ นอกจากจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหาร (MALT lymphoma) อีกด้วย

ศ.พญ.วโรชา มหาชัย ประธานศูนย์วิจัยมะเร็งกระเพาะอาหารและการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรแห่งชาติ กล่าวในงานเสวนา “เอช.ไพโลไร แบคทีเรียตัวร้าย กับโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง รู้ทัน…รักษาได้” จัดโดยศูนย์วิจัยมะเร็งกระเพาะอาหารและการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรแห่งชาติ ว่า เชื้อ เอช.ไพโลไร ถูกค้นพบมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยแพทย์ชาวออสเตรเลีย 2 ท่าน คือ ศ.นพ.แบรีย์ มาร์แชล (Barry Marshall) และ ศ.นพ.เจ โรบิน วาร์เรน (Robin Warren) ว่า เชื้อนี้มักจะอยู่ในเยื่อบุกระเพาะอาหาร และมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ตลอดจนมะเร็งกระเพาะอาหาร ทำให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาทางการแพทย์ เมื่อปี 2548

“เชื้อ เอช.ไพโลไร มีรูปร่างเป็นเกลียวและมีหางมีความทนกรดสูง เนื่องจากสามารถสร้างสารที่เป็นด่างออกมาเจือจางกรดที่อยู่รอบๆ ตัวมัน จึงสามารถอาศัยอยู่ในชั้นผิวเคลือบภายในกระเพาะอาหารได้ และยังสร้างสารพิษไปทำลายเซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร โดยอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น อาจจะเกี่ยวเนื่องจากทางสายพันธุ์ รวมถึงภูมิต้านทานโรคของแต่ละคน”

นอกจากมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งแล้ว ศ.พญ.วโรชา ยังบอกด้วยว่า สาเหตุอันดับหนึ่งของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ก็คือการติดเชื้อ เอช.ไพโลไร โดยผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารส่วนใหญ่จะมีอาการเกี่ยวกับกระเพาะอาหารส่วนบน คือมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก จุกเสียด แสบท้อง อาหารไม่ย่อย แต่ผู้ป่วยอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าเป็นอะไร และส่วนมากมักจะซื้อยารับประทานเอง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา รวมถึงการตรวจหาเชื้อ เอช.ไพโลไร

สำหรับการรักษานั้น รศ.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ เลขาธิการศูนย์วิจัยมะเร็งกระเพาะอาหารฯ กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อ เอช.ไพโลไร ในผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การส่องกล้องกระเพาะอาหาร การเจาะเลือด การตรวจทางลมหายใจ (Urea Breath Test) และการตรวจอุจจาระ เมื่อพบว่ามีการติดเชื้อจำเป็นต้องทำการรักษาและกำจัดเชื้อนี้ เพื่อรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารให้หายขาด โดยมีแนวทางในการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อ เอช.ไพโลไร อยู่โดยใช้สูตรยากำจัดเชื้อซึ่งการรักษาที่นิยมใช้กันมากและมีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ การใช้ยาลดการหลั่งกรด 1 ชนิด ร่วมกับยาปฏิชีวนะอีก 2 ชนิด เป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ซึ่งพบว่าสามารถกำจัดเชื้อได้มากกว่า 90% และภายหลังจากการหยุดรักษาไปแล้ว 4 สัปดาห์ ก็จะไม่พบเชื้อ เอช.ไพโลไร อีก และโอกาสที่จะกลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำก็ลดลงไปมาก

“โรคแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการติดเชื้อ เอช.ไพโลไร สามารถรักษาและมีโอกาสหายขาดได้เพียงหมั่นสังเกตพฤติกรรมว่ามีอาการของโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือไม่ รวมถึงมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงการติดเชื้อ เอช.ไพโลไร อาทิ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ ปวดท้องรุนแรง ปวดท้องกระเพาะอาหารเรื้อรังเป็นเวลานานเกิน 1 เดือน หรือเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา และรับการรักษาอย่างถูกวิธี”

ในเรื่องการปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร รศ.นพ.รัฐกร แนะนำว่า ให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ด รสจัด งดบุหรี่ งดการดื่มสุรา งดการใช้ยาแอสไพริน และยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDS ผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวลทั้งหลาย รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอก็จะช่วยป้องกันโรคแผลในกระเพาะอาหารได้


กำลังโหลดความคิดเห็น