xs
xsm
sm
md
lg

จี้คุมสปอตวิทยุ อวดสรรพคุณ “ยาว-ใหญ่-กระชับ” เพียบ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กพย.วิเคราะห์โฆษณาทางวิทยุ พบขายยาและอาหารเสริมแบบโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภคเพียบ ผิดกฎหมายชัดเจน ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์อวดอ้างแบบยาว ใหญ่ กระชับ จี้ภาครัฐเร่งควบคุม

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เสียหายและร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามทางวิทยุกระจายเสียงแบบเกินจริงและหลอกลวงจำนวนมาก กพย.จึงมีการทำงานร่วมกับมีเดียมอนิเตอร์ เพื่อศึกษาโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม และวิเคราะห์เนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย และสร้างค่านิยมที่ไม่เหมาะสม เพื่อคุ้มครองสิทธิและสุขภาพของประชาชน โดยการศึกษาครั้งนี้ ทำการสุ่มเลือกสปอตวิทยุกระจายเสียง โดยการศึกษาได้ทำการสืบค้นโฆษณาที่เผยแพร่ซ้ำด้วยการใช้เว็บไซต์ google.co.th, youtube.com และ 4shared.com ระหว่างวันที่ 11-15 มี.ค.56 โดยพบไฟล์เสียงสปอตวิทยุที่เผยแพร่ในช่วงปี 2555-2556 จำนวน 67 ชิ้นสปอต จาก 48 ผลิตภัณฑ์ ได้ทำการถอดไฟล์เสียงเพื่อวิเคราะห์ สามารถแยกได้เป็น ผลิตภัณฑ์ยา และ อาหาร ตามที่สามารถเปรียบเทียบจาก พระราชบัญญัติต่างๆ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์มิติด้านกฎหมาย พบว่า มีการใช้ข้อความต้องห้าม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยา พบความผิดตาม พ.ร.บ.ยา 2510 หลายมาตรา ทั้งข้อความโอ้อวดว่าสามารถบำบัดบรรเทา เช่น รักษาหรือป้องกันโรค หายจากความเจ็บป่วยแบบหายขาด ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีผลข้างเคียง ช่วยฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น แสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินจริง เช่น มีพลังอย่างน่าตื่นตาตื่นใจในการขับไล่เลือด ช่วยกระชับมดลูก คืนความสาว เป็นต้น การแสดงสรรพคุณยาอันตราย หรือควบคุมพิเศษ เป็นต้น และเมื่อตรวจสอบพบว่าโฆษณาในกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.ในการโฆษณาอีกด้วย สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร พบว่าเกือบทั้งหมดนำเสนอข้อความโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร เช่น ดื่มแล้วได้ผลตั้งแต่ขวดแรก ช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง เซลล์เนื้องอก ทำลายไขมัน เป็นต้น

ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวต่อว่า สำหรับมิติด้านการใช้และผลิตซ้ำค่านิยมทางสุขภาพ ความงาม และเพศ พบว่า มักมีการใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่แสดงสรรพคุณที่เป็นสำนวน สร้างค่านิยมในแบบต่างๆ และใช้ภาษาที่อวดอ้างสรรพคุณเช่น “มีน้ำมีนวล” “นกเขาไม่ขัน” “ฟิตกระชับหุ่นเฟิร์ม” “อกโตเต่งตึง” “มั่นใจไร้กลิ่น” “ทั้งใหญ่ ทั้งแข็งดี ทนนาน” เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ของโฆษณาที่ทำการศึกษา จะเน้นในเรื่องสุขภาพและสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งจะใช้วิธีการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ที่สื่อนัยยะแสดงถึงสรรพคุณยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์โฆษณาทั้งหมดมักจะเป็นการโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือ ยา ซึ่งนอกจากภาครัฐจะต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย การออกเกณฑ์คุมโฆษรา ประชาชนยังต้องแยกแยะและรู้จักป้องกันสิทธิประโยชน์ของตนเองด้วย
 

กำลังโหลดความคิดเห็น