“เสียรู้-เสียทรัพย์-เสียสุขภาพ-เสียชีวิต” ถ้าไม่ระวังให้ดี คุณอาจเป็นเหยื่อแห่งการสูญเสียเหล่านี้ จากการบริโภคโฆษณาเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภคทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์!!
จากการศึกษาวิเคราะห์ สปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามทางวิทยุกระจายเสียงที่ปรากฏในเว็บไซต์ ในปี 2555-2556 พบว่ามีจำนวนโฆษณา 71 ชิ้น จาก 52 ผลิตภัณฑ์ ที่มีข้อความเข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนวิทยุ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม ไม่เหมาะสมถึง 26 ชิ้น จาก 18 ผลิตภัณฑ์ หรือเรียกง่ายๆ คือคิดเป็น 96 เปอร์เซ็นต์ที่ผิดกฎหมายนั่นเอง
ผลิตภัณฑ์ยาทั้งหมดที่ส่งให้ตรวจสอบ พบว่าไม่ได้รับการอนุญาตให้โฆษณา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ในส่วนของเนื้อหาการโฆษณา โดยข้อความที่พบมากที่สุดคือ การโอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ หรือช่วยให้หายขาดได้อย่างน่าอัศจรรย์ ตรวจพบทั้งหมด 12 ชิ้น จาก 7 ผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่มักใช้คำพูดหลอกลวงเกินจริงดังนี้
“ไม่มีผลข้างเคียงปลอดภัยสูงสุด, ช่วยฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ, คืนความสวยตัวช่วยดีๆ, ไม่มีอันตราย, สกัดมาจากสมุนไพรมหัศจรรย์ 14 ชนิด, เกิดคุณประโยชน์อย่างมหาศาล ฯลฯ”
ที่พบเจอในลำดับรองลงมา คือการแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินจริง มี 11 ชิ้น จาก 9 ผลิตภัณฑ์ โดยมักใช้ถ้อยคำกล่าวอ้างว่า “ใช้แล้วจะมีพลังอย่างน่าตื่นตาตื่นใจในการขับไล่เลือดเน่าเลือดเสียที่คอยจะจับกันเป็นลิ่มเลือด, ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ตึงกระชับ, บรรเทาอาการเจ็บปีกมดลูก, ช่วยวัยสาวกลับคืนมา, ไล่จับไขมันส่วนเกินที่ร่างกายคุณไม่ต้องการ ฯลฯ”
นอกนั้นเป็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายเป็นอาหาร ซึ่งตรวจพบว่าไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณาจำนวน 39 ชิ้นสปอต จาก 29 ผลิตภัณฑ์ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 และมีการอวดอ้างว่ารักษาโรคได้สารพัด เช่น อ้างว่าช่วยในการบำบัดโรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคเอดส์ โรคไขข้ออักเสบ โรคเก๊าต์ โรคไต เป็นต้น
ขณะนี้ หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบ ดำเนินการให้ระงับการเผยแพร่ และเห็นว่าควรเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … (ฉบับประชาชน) ให้มีผลบังคับใช้จริง แต่ก่อนจะถึงตรงนั้น เบื้องต้นขอให้ประชาชนดูแลตัวเองก่อน
“ประชาชนควรงดการฟังวิทยุและการรับชมโทรทัศน์ ที่มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ผิดกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลจากการถูกกล่อมจนเกิดความหลงเชื่อในโฆษณานั้น ให้รู้เท่าทันการโฆษณาและร่วมกันเฝ้าระวัง ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการปัญหา เช่น สายด่วน อย. หมายเลข 1556 หรือสำนักงาน กสทช.หมายเลข 1200” มีเดียมอนิเตอร์และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา เสนอแนะเอาไว้
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE