xs
xsm
sm
md
lg

คร.ยกร่าง กม.ยาสูบใหม่รวม “บารากู่” ชี้ควันเทียบเท่าบุหรี่ 100 มวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เตือน! เยาวชนรู้เท่าทันอันตรายสูบบารากู่ เผยผลสุ่มตรวจผลไม้แห้งในบารากู่ มีสารนิโคตินปนเปื้อน ระบุเป็นสารเสพติดได้ง่ายเช่นเดียวกับเฮโรอีน ชี้ควันจากการสูดดมเทียบเท่ากับบุหรี่ 100 มวน ทั้งอาจติดโรค เช่น วัณโรค ตับอักเสบบี หากใช้ท่อดูดร่วมกัน ย้ำ กม.ไทยไม่อนุญาตนำเข้าและจำหน่ายสารสกัดนิโคติน พร้อมเตรียมยกร่าง กม.บริโภคยาสูบใหม่ บรรจุการสูบบารากู่เข้าไว้ด้วยเหตุปัจจุบันกำหนดแต่เรื่องยาเส้น

วันนี้ (13 ก.ค.) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่าเยาวชนส่วนใหญ่นิยมสูบบารากู่ เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นการสูบควันผลไม้ หอมน่ารับประทาน แต่จากที่กรมควบคุมโรคส่งตัวอย่างผลไม้แห้งในบารากู่ไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ผลไม้แห้งทุกตัวอย่างที่ส่งไปตรวจนั้นมีส่วนผสมของสารนิโคติน ซึ่งสารนี้หากเสพในขนาดต่ำๆ จะกระตุ้นระบบประสาททำให้ผู้เสพรู้สึกมีความสุข แต่ถ้าเสพบ่อยๆ จะต้องเพิ่มขนาด เนื่องจากนิโคตินเป็นสารเสพติด ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า นิโคตินสามารถเสพติดได้ง่ายเท่ากับเฮโรอีน และยังพบว่าผู้ที่เสพนิโคตินมีอันตรายเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ สูงกว่าผู้ที่ไม่เสพนิโคติน อย่างไรก็ตาม สธ.จะต้องหาทางคุ้มครองเยาวชนให้ทันต่อนวัตกรรมการสูบสารนิโคตินด้วยวิธีการอื่นๆ เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ จึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการปกป้องสุขภาพและให้ความรู้ประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของบุหรี่และนิโคติน
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก กล่าวถึงพิษภัยของการบริโภคยาสูบผ่านน้ำ ดังนี้ 1.การใช้เครื่องสูบผ่านน้ำ (Water pipe) เพื่อสูบยาสูบจะเป็นการนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง และเป็นอันตรายต่อผู้อื่นที่สัมผัสควันที่ปล่อยออกมา 2.แม้ว่าควันจะผ่านน้ำลงไปแล้วก็ตาม ยังคงมีสารพิษในระดับสูงอยู่ รวมทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ โลหะหนัก และสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง นอกจากนี้ความร้อนในการเผาไหม้ เช่น ถ่านไม้ หรือถ่านอื่นๆ จะทำให้เกิดสารพิษเช่นกัน 3.หญิงตั้งครรภ์หากสูบหรือสัมผัสควัน ทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ 4.การสูบโดยใช้เครื่องสูบ (Water pipe) โดยใช้ท่อดูดร่วมกัน เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่อ เช่น วัณโรค และไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น และมีโอกาสจะติดโรคร้ายแรงในช่องปากด้วย

“เนื่องจากการสูบบารากู่ มีรสหวาน กลิ่นหอม จึงยั่วยวนใจวัยรุ่นให้อยากลอง และเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ การสูบบารากู่นี้ แต่ละครั้งมักจะใช้เวลาในการสูบนาน โดยปกติผู้สูบบุหรี่ซิกาแรตทั่วไปจะสูด-พ่นควันประมาณ 8-12, 40-75 มิลลิลิตร ในช่วงเวลา 5-7 นาที และจะสูดดมควันเข้าร่างกายประมาณ 0.5-0.6 ลิตร หรือบางคนอาจถึง 1 ลิตร ส่วนการสูบบารากู่ จะใช้เวลาในการสูด-พ่นควันประมาณ 20-80 นาที ดังนั้น ในการสูบแต่ละครั้ง ผู้สูบอาจสูดควันมากกว่าผู้สูบบุหรี่ทั่วไปถึง 100 มวน ซึ่ง สธ.และหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันภัยจากบุหรี่ตระหนัก ถึงพิษภัยของบารากู่ แต่ไม่สามารถเอาผิดการสูบบารากู่ได้เหมือนการสูบบุหรี่ เนื่องจากตัวยาไม่มีลักษณะเป็นยาเส้น รวมทั้งเยาวชนหลงผิดคิดว่าการสูบบารากู่เป็นการสูบผลไม้ ไม่ใช่สูบบุหรี่และไม่ทราบว่ามีการผสมสารเสพติด คือนิโคติน ที่จะทำให้อยากสูบในครั้งต่อๆ ไป” ดร.นพ.พรเทพ กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่ออีกว่า เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน จำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบขึ้นใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำเป็นร่างเรียบร้อยแล้ว ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว และกำลังปรับแก้ข้อความตามความคิดเห็นของประชาชน คาดว่าในปีหน้าการแก้ไขร่างดังกล่าวคงจะเรียบร้อยเสนอผ่านสภาได้ แต่อย่างไรก็ตามขณะที่ยังไม่สามารถปกป้องประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนด้วยกฎหมายได้นั้น ปัจจุบันได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อนุญาตการนำเข้า รวมถึงการจำหน่ายสารสกัดนิโคตินในประเทศ ยกเว้น หมากฝรั่งอดบุหรี่ และแผ่นแปะนิโคติน ที่ได้ขึ้นทะเบียนยาเพื่อลดการติดบุหรี่เท่านั้น ดังนั้น การจำหน่ายนิโคตินสกัดที่จำหน่ายควบคู่กับเครื่องสูบยาชนิดต่างๆ และที่นำมาผสมในผลไม้แห้งเพื่อนำมาสูบบารากู่นั้น จึงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร.02-5809264
 


กำลังโหลดความคิดเห็น