สปสช.ระดมสมองหาข้อเสนอเชิงนโยบายการดูแลพัฒนาการเด็กพิเศษ เน้นแบบบูรณาการตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และหน่วยบริการ ด้าน รมว.สธ.มอบ สปสช.รายงานให้บอร์ดรับทราบก่อนส่งมอบให้คณะอนุ กก.ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคดำเนินการต่อ เตรียมนำร่องปีงบประมาณ 57 ในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน
วันนี้ (12 ก.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างเครือข่ายการดูแลพัฒนาการเด็กในระดับชุมชน-ระดับหน่วยบริการ ซึ่งจัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในวันที่ 11-12 ก.ค.2556 เพื่อระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการจัดระบบการดูแลพัฒนาการเด็ก ตั้งแต่การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน หน่วยบริการ และการดูแลต่อเนื่องในชุมชน รวมถึงสร้างความเข้าใจแนวคิดการสร้างเครือข่ายดูแลพัฒนาการเด็กในระดับชุมชนทั้งรูปแบบเมือง ชนบท และหน่วยบริการ
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการประชุมเชิงปฏิบัติการตลอด 2 วันที่ผ่านมา ได้ข้อสรุป 3 ส่วนหลัก ดังนี้คือ 1.ด้านบริการชุมชน ควรสนับสนุนการดูแลแบบบูรณาการโดยพ่อแม่ ครอบครัว ศูนย์เด็กเล็ก รพ.สต.โรงเรียน และชุมชน ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลเด็ก โดยมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ครู อาสาสมัครในพื้นที่ ร่วมกับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการดูแลต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับชุมชน หน่วยบริการ และผู้ให้บริการ 2.ด้านบริการ ส่งเสริมให้มีการจัดบริการรัฐร่วมเอกชน และควรมีการคัดกรองที่ไม่ทำให้เกิดเป็นตราบาปกับเด็ก (stigma) 3.ด้านบริหาร ควรสนับสนุนอัตรากำลังคน และงบประมาณ ในการให้บริการ การให้คำปรึกษา การกระตุ้นพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนครอบครัวที่มีปัญหาเศรษฐกิจ จากการที่ต้องออกจากงานเพื่อเลี้ยงดูลูกที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการ โดยอาศัยนโยบายกองทุนสุตรีของนายกรัฐมนตรี และในปี 2557 ขอให้เริ่มดำเนินการนำร่องในพื้นที่ที่มีความพร้อมทุกเขตบริการโดยใช้งบดำเนินการจากทุกพื้นที่
ด้าน นนพ.ประดิษฐ กล่าวว่า สำหรับการดูแลเด็กพิเศษนั้นอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช.แต่การจะทำให้เข้าถึงบริการนั้น ต้องส่งเสริมการจัดเครือข่ายบริการเพื่อเพิ่มการเข้าถึง เนื่องจากมีข้อจำกัดของหน่วยบริการสาธารณสุขและบุคลากร จึงต้องดำเนินการเพื่อให้เด็กกลุ่มเด็กพิเศษเข้าถึงบริการมากขึ้น ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ปกครอง/ครอบครัว ในการส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเด็กพิเศษร่วมกัน ซึ่งการทำให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่ดี จนกระทั่งมีพัฒนาการที่สมวัย จะส่งผลให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์ด้วยนั่นเอง
นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า จากข้อเสนอที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการดังที่กล่าวมานั้น ทำให้ทราบว่าการประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี จนสามารถได้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและข้อเสนอเชิงการจัดการเพื่อส่งเสริมการดูแลเด็กที่มีพัฒนาการช้า/บกพร่อง ทั้งในระดับชุมชน และหน่วยบริการสาธารณสุขและในชุมชน แสดงว่าการประชุมนี้บรรลุวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้จะมอบให้ สปสช.รายงานต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทราบและส่งมอบให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2557 จะเริ่มดำเนินการนำร่องในพื้นที่ที่มีความพร้อมทุกเขตบริการ