กรมวิทย์ไล่ตรวจข้าวทุกยี่ห้อ ทั้งข้าวหอมปทุม ข้าวเสาไห้ ข้าวตราฉัตร หลัง “เช็ค คนค้นฅน” โพสต์เฟซบุ๊กบอกห้ามซื้อ มีสารตกค้าง หนูกินแล้วตาย ยันปลอดภัย กินได้ ไม่พบสารตกค้าง ส่วนเมทิลโบร์ไมด์แม้ตรวจพบก็ไม่เกินค่ามาตรฐาน “หมอนิพนธ์” เอาตำแหน่งอธิบดีเป็นประกัน เป็นข้อมูลวิชาการล้วนๆ ไม่มีเม็ดเงินมาเกี่ยวข้อง
จากกรณีนายสุทธิพงศ์ ธรรมวุฒิ หรือเช็ค กรรมการผู้จัดการบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด และพิธีกรรายการคนค้นฅน ที่ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่าข้าวไทยมีสารตกค้าง หนูกินเข้าไป 5 นาทีแล้วตาย โดยมีการระบุชื่อโรงสีและยี่ห้อของข้าวชัดเจน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโซเชียลเน็ตเวิร์ก แม้ว่าจะมีการลบโพสต์แล้ว แต่ข้าวตราฉัตร ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็ได้ออกมาตอบโต้และแจ้งความดำเนินคดี ซึ่ง นายสุทธิพงศ์ ได้ออกมาแถลงว่าได้รับข้อมูลดังกล่าวจากการส่งต่อมาจากแอปพลิเคชันไลน์ จึงนำไปโพสต์ต่อ
วันนี้ (12 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวแถลงข่าว “ผลการตรวจข้าวสารบรรจุถุง” ว่า กรมวิทย์ได้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงและข้าวสารบรรจุกระสอบ จำนวน 54 ตัวอย่าง แบ่งเป็นตัวอย่างที่กรมวิทย์เก็บตรวจเอง 33 ตัวอย่าง และตัวอย่างที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้เก็บส่งตรวจอีก 21 ตัวอย่าง พบว่า ไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ไม่พบสารเคมีฟอสฟีนที่ใช้รมข้าว ไม่พบสารพิษจากเชื้อรา และอฟลาทอกซิน ส่วนสารเมทิลโบร์ไมด์ แม้จะพบการตกค้างแต่ก็ไม่เกินค่ามาตรฐาน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนผลการตรวจจำนวนยีสต์และเชื้อราต่อกรัมในข้าวสารถุง พบน้อยกว่า 10cfu ต่อกรัม ยกเว้นข้าวสารบรรจุกระสอบที่ชั่งแบ่งขายบางตัวอย่างมีจำนวนเชื้อรา 50 cfu ต่อกรัม แต่ทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ซึ่งในอาหารพร้อมบริโภคยอมให้มีได้ไม่เกิน 1,000 cfu ต่อกรัม ส่วนผลการตรวจสิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นด้วยตาเปล่าตรวจพบ มอดฟันเลื่อยมีชีวิต ชิ้นส่วนแมลง และขนสัตว์ ปะปนบ้าง แต่จะพบในปริมาณที่น้อยมาก น้อยกว่าที่พบในตัวอย่างเส้นพาสต้านำเข้าจากต่างประเทศ ที่กรมวิทย์เคยเฝ้าระวังอาหารนำเข้า
“ผมขอเอาตำแหน่งอธิบดีเป็นประกันว่า ผลตรวจข้าวนี้เป็นข้อมูลทางวิชาการ เป็นผลตามหลักวิทยาศาสตร์ ไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องหรือทำเพื่อกลุ่มธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
นางกนกพร อธิสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานของอาหาร กล่าวว่า สารเมทิลโบร์ไมด์และสารฟอสฟีนที่ใช้ในการรมข้าวนั้น มีลักษณะเป็นแก๊ส เมื่ออยู่ในที่โล่งก็จะระเหยไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งก่อนจะบรรจุก็ต้องรอให้สารเหล่านี้ระเหยออกไปจนหมด อย่างไรก็ตาม ก่อนการรับประทานข้าวควรที่จะต้องซาวก่อน ซึ่งการซาวข้าว 1 ครั้งจะช่วยลดสารตกค้างเหล่านี้ลงไปได้ 20% และเมื่อนำไปหุงความร้อนก็จะทำให้สารตกค้างระเหยไปจนหมด จึงมั่นใจได้ว่าข้าวที่รับประทานอยู่นั้นปลอดภัยแน่นอน
นายมงคล เจนจิตติกุล รองอธิบดีกรมวิทย์ กล่าวว่า ไม่เฉพาะข้าวเท่านั้นที่มีการรมแก๊สเพื่อป้องกันแมลงต่างๆ แต่ผลิตภัณฑ์เกษตรทั้งหมดที่ต้องมีการเก็บรักษาระยะยาวล้วนแต่ต้องมีการรมแก๊สด้วยกันทั้งนั้น โดยวิธีในการรมจะนำผ้าใบคลุมสินค้าทั้งหมดแล้วปล่อยแก๊สจากภายใน โดยจะคลุมเอาไว้ทั้งหมด 7 วัน จากนั้นจึงเปิดผ้าใบออก เพื่อให้ระบบอากาศหมุนเวียนขับไล่สารเคมีเหล่านี้ ซึ่งใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมงก็จะระเหยไปจนหมด
นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทย์ กล่าวว่า ในการเลือกซื้อข้าวบรรจุถุงนั้น หากเจอมอดในข้าวแสดงว่าไม่มีสารตกค้างแน่นอน สามารถใช้เป็นเกณฑ์ทางกายภาพพิจารณาด้วยตาเปล่าได้ แต่ส่วนใหญ่การเลือกซื้อข้าวก็มักจะเลือกที่มีเม็ดสวย หากต้องการความมั่นใจก็สามารถนำข้าวมาผึ่งและใช้พัดลมเป่า เพื่อไล่มอดและสารเคมีตกค้างได้ และควรซาวข้าวก่อนหุงรับประทาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้าวที่กรมวิทย์เก็บตัวอย่างเอง 33 ตัวอย่าง แบ่งเป็น 1.ข้าวตราฉัตร 8 ตัวอย่าง ได้แก่ ข้าวขาว 5% ตราฉัตร ข้าวหอมผสม ตราฉัตร ข้าวหอมผสม ตราฉัตรอรุณ ข้าวหอมมะลิ 100% ตราฉัตรทอง ข้าวหอมมะลิ 100% ตราฉัตร ข้าวขาว ตราฉัตร ข้าวขาว 15% ตราฉัตร และข้าวหอมปทุมธานี ตราฉัตร 2.ตราเบญจรงค์ 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ข้าวเสาไห้ ตราเบญจรงค์ 3.ตราบิ๊กซี 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ตราบิ๊กซี ข้าวหอมปทุม 100% ตราบิ๊กซี
4.ข้าวขาวหอมมะลิ ตราหงส์ทอง 5.ข้าวหอมมะลิ ตราคุ้มค่า (Tesco) 6.ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ตราไก่แจ้เขียว 7.ข้าวหอมมะลิ 100 % ตราธรรมคัลเจอร์ 8.ตรามาบุญครอง 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ข้าวหอมปทุม เกรด 100% คัดพิเศษ ตรามาบุญครอง ข้าวหอมมะลิ ตรามาบุญครอง 9.ข้าวหอมมะลิ ตราดอกบัว 10.ข้าวขาว 45% ตราแฮปปี้บาท 11.ข้าวขาว 15% ตราพนมรุ้ง 12.ข้าวขาว 100% ตราพันดี 13.ข้าวขาวคัดพิเศษ ตรามหานคร 14.ข้าวขาว 25% ตราข้าวอิ่มทิพย์ 15.ข้าวขาว 100% ตราแสนดี 16.ข้าวเสาไห้ 35% ตราคุ้มค่า (Tesco) 17.ข้าวเสาไห้ ตราปิ่นเงิน 18.ข้าวหอมมะลิใหม่ (กลางปี) ตราดอกบัว 19.ข้าวเสาไห้ ชัยนาท (ข้าวกระสอบ) 20.ข้าวเสาไห้ (ข้าวกระสอบ) 21.ข้าวขาว (ข้าวกระสอบ) 22.ข้าวธรรมดา (ข้าวกระสอบ) 23.ข้าวเสาไห้ (ข้าวกระสอบ) และ 24.ข้าวเสาไห้ (ข้าวกระสอบ)
ส่วนที่ อย.เก็บส่งตรวจ รายงานผลการตรวจวิเคราะห์แล้ว 11 ตัวอย่าง ไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฟอสฟีน เชื้อรา อฟลาทอกซิน ส่วนโลหะหนัก ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม ปรอท พบปริมาณต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด ได้แก่ 1.ข้าวหอมตราฉัตร 2 ตัวอย่าง 2.ตรา ARO 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ข้าวหอมผสม ข้าวเสาไห้เก่า ข้าวหอมปทุม 3.ตราบิ๊กซี 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ข้าวเสาไห้ 100% ข้าวกล้องหอมผสม 4.ข้าวหอม ตราคุ้มค่า 2 ตัวอย่าง 5.ข้าวกล้องหอมมะลิตรา Tesco 2 ตัวอย่าง
และตัวอย่างที่ อย.เก็บส่งเพิ่มเติม รวม 10 ตัวอย่าง จากบริษัท ซี.พี.จำกัด อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็น ข้าวตราฉัตร 5 ตัวอย่าง ตราฉัตรทอง 1 ตัวอย่าง ตราฉัตรทิพย์ 1 ตัวอย่าง ตราฉัตรอุบล 2 ตัวอย่าง ตราฉัตรอรุณ 1 ตัวอย่าง ซึ่งผลวิเคราะห์จะรู้ผลวันที่ 15 ก.ค.นี้