นักโภชนาการชี้ เตี้ย อ้วน ผอม ปัญหาเรื้อรังโภชนาการเด็ก ทำไอคิวต่ำ อึ้ง! เด็กเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จากร้อยละ 2 พุ่งเป็นร้อยละ 18 ชู อปท.ช่วยแก้ปัญหาได้ เตรียมเสนอ ครม.เพิ่มงบอาหารกลางวัน
นายสง่า ดามาพงศ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการอบรมเรื่อง “เรียนรู้-ร่วมสร้าง...โภชนาการสมวัยในศูนย์เด็กเล็ก” หัวข้อ “จุดประกายขาวความคิด เด็กไทยมีโภชนาการสมวัย” ว่า ปัญหาเรื่องโภชนาการเด็กคืออ้วนไปและผอมไป แต่จากการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากว่า 3 ปี พบว่า อปท.เป็นหน่วยงานที่มีพลังในการทำงานอย่างมาก และสามารถจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพได้อย่างดี โดยจากการทำงานในทุกภาคทำให้ได้เครื่องมือและนวัตกรรมโภชนาการสมวัย คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปเพื่อประเมินเด็กด้านอาหารและโภชนาการ ทั้งระดับบุคคลและโรงเรียน และโปรแกรมการจัดอาหารกลางวันที่ได้มาตรฐานสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน
“โภชนาการที่ดีจะทำให้เด็กไม่เตี้ย ไม่ผอม ไม่อ้วน เพราะหากกินไม่เป็น กินมากไปก็อ้วน กินน้อยไปก็ผอมและเตี้ย ซึ่งเด็กที่ผอมเกินไปพบว่า เซลล์สมองจะมีความบาง การเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ไม่ดี ทำให้เด็กกลายเป็นคนไอคิวต่ำ เรียนไม่รู้เรื่องทำให้โง่ อ่อนแอ และจนกลายเป็นวงจรต่อๆ ไป ส่วนเด็กอ้วนก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนได้ถึงร้อยละ 30 และหากอ้วนจนถึงวัยรุ่นก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนร้อยละ 80 ซึ่งเสี่ยงทำให้เกิดโรคเบาหวาน มะเร็ง หัวใจ และหลอดเลือด จากการติดตามสถานการณ์โรคเบาหวาน ช่วงเวลา 5 ปี พบว่า การเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 18 ซึ่งเกิดจากภาวะน้ำหนักเกิน และยังพบว่าเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนถึงร้อยละ 40 ด้วย” นายสง่า กล่าว
นายสง่า กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเด็กไทยไม่มีภูมิคุ้มกันทางปัญญาในการเลือกซื้ออาหาร เด็กส่วนใหญ่เลือกซื้ออาหารตามความรู้สึก ตามโฆษณาชวนเชิญ เด็กไม่สามารถเลือกจากสารอาหาร จากคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้เด็กได้รับอาหารด้อยคุณภาพอยู่ตลอดเวลา โดยพบว่าเด็กไทย ร้อยละ 49.6 กินขนมกรุบกรอบที่ด้อยคุณค่า โดย 1 ใน 3 ของเด็กไทยได้รับไขมัน โซเดียม น้ำตาลเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ นอกจากนี้ ยังพบว่าจากการสำรวจในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กที่รับประทานอาหารเช้ามีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เขตต่างจังหวัดตัวเลขก็ใกล้เคียงกับเขตเมือง ซึ่งมื้อเช้าถือเป็นมื้อสำคัญที่สุด อีกทั้งยังรับประทานผัก ผลไม้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
“จากการติดตามพบว่าเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่มีผักผลไม้เป็นของว่างจะช่วยลดความอ้วนลงได้ร้อยละ 30 โรงเรียนที่ให้เด็กออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะทำให้เด็กอ้วนน้อยกว่าร้อยละ 20 ส่วนเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่ขายน้ำอัดลมเด็กจะอ้วนเป็น 2 เท่าของโรงเรียนที่ไม่มีน้ำอัดลมขาย อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือ การเพิ่มงบประมาณรายหัวสำหรับค่าอาหารกลางวัน จาก 13 บาทเป็น 20 บาท ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เด็กได้มีโภชนาการที่ดีขึ้นและเกิดการพัฒนาการที่สมวัย ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีการนำเสนอ คณะรัฐมนตรีเพื่อให้เห็นความสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ต่อไป” นายสง่า กล่าว