xs
xsm
sm
md
lg

สถิติบำบัดยาเสพติดทั่วไทยเกิน 3 แสน 80% เป็นวัยรุ่น ติดยาบ้าเยอะสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดสถิติคนบำบัดยาเสพติดทั่วประเทศ พบพุ่งกว่า 3 แสนราย เกิน 80% เป็นกลุ่มมัธยม ชี้ติดยาบ้าเยอะที่สุด กว่า 30% กลับไปติดซ้ำ เร่งเดินหน้าโครงการ “ติดยา หายขาดได้” กระตุ้นเข้าบำบัด ไม่กลับไปเสพยาอีก ย้ำสมัครใจมาบำบัด ข้อมูลจะไม่เข้าระบบอาชญากรของตำรวจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (3 ก.ค.) นพ.จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวแถลงข่าว “ติดยา หายขาดได้” ว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) คาดว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งผู้เสพและผู้ค้า ในปี 2555 ราว 1.2 ล้านคน ปี 2556 ราว 1.9 ล้านคน ส่วนข้อมูลผู้เข้ารับการรักษาที่สถาบันธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในเขตภูมิภาคอีก 6 แห่งทั่วประเทศ สังกัดกรมการแพทย์ พบว่า ผู้ป่วยยาเสพติดและเข้ารับการบำบัดทั้งหมดในปี 2555 มีจำนวน 330,544 ราย เฉพาะที่สถาบันธัญญารักษ์ ปี 2555 มีจำนวน 9,715 ราย ปี 2556 ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. จำนวน 5,106 ราย เมื่อแยกตามช่วงอายุพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี หรือกลุ่มวัยรุ่นและวัยรุ่นตอนปลาย สอดคล้องกับการจำแนกสถิติที่แยกตามกลุ่มการศึกษาที่พบว่า ตั้งแต่ปี 2552 - 2556 กลุ่มผู้ป่วยยาเสพติดส่วนใหญ่ คือ กลุ่มมัธยมศึกษา โดยปี 2555 มีจำนวนร้อยละ 81.67 และในปี 2556 มีจำนวนร้อยละ 85.2

นพ.จิโรจ กล่าวอีกว่า เมื่อดูสถิติผู้เข้ารับการรักษาจำแนกตามประเภทของสารเสพติด พบว่า ยาบ้ามีปริมาณสูงที่สุดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552-2556 โดยในปี 2556 มีจำนวนมากถึงร้อยละ 55.97 รองลงมาคือ สุรา ร้อยละ 17.96 นอกจากนี้ ยังพบว่า ยาไอซ์เป็นยาเสพติดอีกชนิดหนึ่งที่พบแนวโน้มการแพร่ระบาดสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นพ.วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ กล่าวว่า ผู้ติดยาเสพติดถือเป็นผู้ป่วยโรคสมองติดยา โจทย์สำคัญคือ ต้องทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาไม่กลับไปเสพซ้ำ และเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างถาวร โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เสพเองและครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า จำนวนผู้เข้ารับการบำบัดร้อยละ 30 มีการกลับไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าผู้เสพยาเสพติดที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถือเป็นผู้ป่วย ข้อมูลจะไม่เข้าไปสู่ระบบข้อมูลอาชญากรของตำรวจ

ผู้เสพหากเพิ่งเริ่มติดในช่วงปีแรกแล้วเข้ารับการบำบัดจะหายขาดได้ดีกว่าผู้ที่เสพเป็นเวลานาน ส่วนกลุ่มเด็กเมื่อได้รับสารเคมีที่เป็นยาเสพติดจะทำให้เกิดการติดได้มากกว่าผู้ที่มีอายุมากขึ้น เนื่องจากสมองยังอ่อน ดังนั้น การป้องกันในกลุ่มนี้ไม่ให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจึงเป็นเรื่องจำเป็น” นพ.วิโรจน์ กล่าว

สำหรับโครงการ “ติดยา หายขาดได้” จะเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนัก แก่ประชาชน เยาวชน กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพ กลุ่มติด ในเรื่องโรคสมองติดยา โทษของยาเสพติดต่อสมองพฤติกรรม แนวทางการช่วยเหลือโดยการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที มีแนวทางในการเลือกวิธีการลดละเลิกยาเสพติด และการเข้ารับการบำบัดรักษา ไม่ปล่อยจนเรื้อรั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น