ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กรมการแพทย์ ร่วมกับสถาบันธัญญารักษ์ ลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สัมมนาสื่อมวลชน ร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจ นโยบายบำบัดผู้ติดยาเสพติด ภายใต้สโลแกน “ติดยา หายขาดได้” เล็งกลุ่มเป้าหมายเยาวชนและประชาชนกลุ่มเสี่ยง พร้อมประสานสื่อสร้างทัศนคติ “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย หายขาดได้ถ้าได้รับโอกาส”
วันนี้ (20 ส.ค.) นพ.จิโรจน์ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานสัมมนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างความรู้ความเข้าใจในนโยบายบำบัด “ติดยา หายขาดได้” ให้แก่สื่อมวลชน 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่โรงแรมเจริญธานี ปริ๊นเซส อ.เมือง จ.ขอนแก่น
นพ.จิโรจน์กล่าวว่า กรมการแพทย์ร่วมกับสถาบันธัญญารักษ์ ลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจนโยบายบำบัด ติดยา หายขาดได้ หวังสร้างทัศนคติกับสังคมว่า ผู้เสพ คือ ผู้ป่วยหายขาดได้ ถ้าได้รับโอกาส ซึ่งสถานการณ์ยาเสพติดยังมีตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการประมาณการของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) คาดว่ามีผู้เสพยาเสพติดกว่า 1,200,000 คน
ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้เข้ารับการรักษาอาการติดยา ซึ่งกรมการแพทย์ โดยสถาบันธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ในเขตภูมิภาคทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ พบสถิติปีงบประมาณ 2552-2556 ตามช่วงอายุของผู้เข้ารับการบำบัด พบว่า ปี 2555-2556 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20-24 ปี ต่างจากช่วงแรกที่อยู่ในกลุ่ม 15-19 ปี ซึ่งยังถือว่าเป็นกลุ่มของวัยรุ่น และวัยรุ่นตอนปลาย สอดคล้องกับการจำแนกสถิติที่แยกตามกลุ่มการศึกษา พบว่ากลุ่มผู้ป่วยยาเสพติดส่วนใหญ่ คือ กลุ่มมัธยมศึกษา โดยเปรียบเทียบในปี 2555 มีร้อยละ 58.50 และในปี 2556 ร้อยละ 59.64 ซึ่งเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้การดำเนินงานด้านการรณรงค์และสร้างความรู้ความเข้าใจ ต้องมุ่งเน้นไปที่กลุ่มครอบครัว เยาวชน และสถาบันการศึกษาเป็นหลัก เพื่อสร้างความตระหนัก และลดสถิติผู้ที่ใช้สารเสพติดได้อย่างสัมฤทธิผล
นอกจากนี้ สถิติของผู้เข้ารับการรักษา โดยจำแนกตามประเภทของยาเสพติด พบว่ายาบ้ามีปริมาณสูงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552-2556 โดยในปี 2556 มีถึงร้อยละ 55.97 รองลงมา คือ สุรา ร้อยละ 17.96 และพบว่ายาไอซ์เป็นอีกชนิดที่พบแนวโน้มการแพร่ระบาดสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง
สำหรับการดำเนินโครงการภายใต้สโลแกน “ติดยา หายขาดได้” มีสาระสำคัญสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบำบัดรักษาปี 2556 โดยประมาณการผู้เสพยาเสพติดไว้ที่ 1.9 ล้านคน สาระสำคัญประกอบด้วย ควบคุมและลดระดับปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนให้ได้ จัดให้มีการดำเนินยุทศาสตร์ป้องกัน ลดรายใหม่และกลับมาติดซ้ำ ปรับระบบบำบัด จำแนก-คัดกรอง-ติดตาม พร้อมสานต่อไปยังพื้นที่เป้าหมาย เพื่อการควบคุมและลดปัญหาให้ได้
นพ.จิโรจน์กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดรักษาประมาณร้อยละ 30 กลับไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดอีก จึงดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลวิชาการด้านยาเสพติดสู่ประชาชน สร้างความตระหนักแก่ประชาชน เยาวชน กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพ กลุ่มติด เรื่องโรคสมองติดยา เพื่อให้ได้รับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที ไม่ปล่อยจนเรื้อรัง
ทั้งนี้ ได้สร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ เพื่อถ่ายทอดข้อมูลทางวิชาการสู่ประชาชน โดยจะลงพื้นที่จัดกิจกรรม “ติดยา หายขาดได้” เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ โดยอาศัยสื่อมวลชนท้องถิ่นเป็นสื่อกลาง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเยาวชนได้รวดเร็ว และสะดวกยิ่งขึ้น